นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย

ประธานกรรมการ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

ปี 2567 ยังคงเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมพลังงานต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งการแสวงหาและพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานรูปแบบเดิมหรือพลังงานสะอาด รวมทั้งการสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตพลังงานเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อน สำหรับ ปตท.สผ. ยังคงมุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานไปพร้อมกับการมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ด้วยการขับเคลื่อน 3 กลยุทธ์หลักอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) และการเติบโตในธุรกิจใหม่ด้านพลังงานแห่งอนาคตและเทคโนโลยีขั้นสูง (Diversify)

ในปี 2567 ปตท.สผ. มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานให้แก่ประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน) ขึ้นในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ก่อนกำหนดในสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยบริษัทฯ จะพยายามรักษาปริมาณการผลิตดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการจี 1/61 หากรวมกับโครงการหลักอื่น ๆ ของบริษัทฯ เช่น โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ และโครงการคอนแทร็ค 4 แล้ว ปตท.สผ. สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศได้ในปริมาณร้อยละ 82 ของการผลิตก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของประเทศ เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศไทย

ด้านความก้าวหน้าในต่างประเทศ ปตท.สผ. ได้ขยายฐานการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ โดยได้เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการสัมปทานกาช่า ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติ นอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ UAE ในขณะที่โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ใน UAE ได้รับอนุมัติแผนพัฒนาจากหน่วยงานรัฐของอาบูดาบีแล้ว และเข้าสู่ขั้นตอนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) เพื่อการพัฒนาโครงการต่อไป สำหรับในประเทศแอลจีเรีย ปตท.สผ. ได้เข้าซื้อหุ้นทุนในบริษัท E&E Algeria Touat B.V. ส่งผลให้บริษัทฯ ถือสัดส่วนการลงทุนทางอ้อมในโครงการทูอัท (Touat Project) ซึ่งเป็นโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติบนบก เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว

ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เป็นอีกด้านหนึ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ โดย ปตท.สผ. ได้พัฒนาโครงการ “DigitalX” โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI และ Machine Learning มาพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลในการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมทั้งได้พัฒนา “X.brain” ซึ่งเป็น AI Engine ที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำงานของบุคลากร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมและมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 นั้น ในปี 2567 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ประมาณ 4.08 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากปีฐาน 2563 รวมทั้งยังดำเนินการปลูก ฟื้นฟู ดูแล และบำรุงรักษาป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนอีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญของโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่แหล่งอาทิตย์ ในอ่าวไทย ซึ่ง ปตท.สผ. ดำเนินการอยู่นั้น ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564–2573 (Nationally Determined Contribution Action Plan on Mitigation 2021–2030) โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในปี 2567 แล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ซึ่งโครงการนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 700,000–1,000,000 ตันต่อปี

ในด้านธุรกิจพลังงานสะอาดนั้น โครงการไฮดูคุม ซึ่งเป็นการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวแบบครบวงจร (Green Hydrogen) ในประเทศโอมาน อยู่ในขั้นตอนการประเมินศักยภาพพลังงานลมและแสงแดด และศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยจะเริ่มออกแบบทางวิศวกรรมในปี 2568 ปตท.สผ. ยังคงให้ความสำคัญกับการแสวงหาโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ และรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในอนาคต

สำหรับผลประกอบการในปี 2567 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 327,415 ล้านบาท (เทียบเท่า 9,273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 488,794 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียมของโครงการจี 1/61 โดยในปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 78,824 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,227 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งกำไรสุทธิดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญที่บริษัทฯ จะนำมาใช้ในการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมจากโครงการต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในประเทศและการเติบโตต่อไป พร้อมกันนี้ ในปี 2567 บริษัทฯ สามารถนำส่งรายได้ให้แก่รัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ จำนวน 50,450 ล้านบาท ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา

จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามหลักธรรมาภิบาลเสมอมา ส่งผลให้ ปตท.สผ. ได้รับการจัดอันดับและรางวัลแห่งความสำเร็จในด้านต่าง ๆ รวม 36 รางวัล จาก 24 สถาบัน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบริษัทฯ

ในนามของคณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงาน ปตท.สผ. ผมขอขอบคุณผู้ถือหุ้น คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ สถาบันการเงิน หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่สนับสนุนการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ด้วยดีมาตลอด โดยในปี 2568 จะเป็นปีที่ ปตท.สผ. ครบรอบ 40 ปี พวกเราทุกคนขอแสดงพันธสัญญาว่า จะยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่คนไทยและประเทศไทยอย่างเข้มแข็งต่อไป เพื่อส่งมอบคุณค่าอนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืนให้แก่ทุกคน