สารจากประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย
ประธานกรรมการ
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมพลังงานให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการปัญหาภาวะโลกร้อน บริษัทพลังงานหลายแห่งต่างตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงปรับเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)
ปตท.สผ. ตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า นอกจากการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศแล้ว การสร้างความสมดุลในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานก็มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน บริษัทฯ จึงกำหนดแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) และการเติบโตในธุรกิจใหม่ (Diversify) ด้านพลังงานแห่งอนาคตและเทคโนโลยีขั้นสูง
การดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์นี้ นอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานในปัจจุบันแล้ว ขณะเดียวกัน การตั้งเป้าหมายในการมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ และการแสวงหาโอกาสในการพัฒนาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย โดยในปี 2566 ปตท.สผ. มีความคืบหน้าการดำเนินงาน ดังนี้
มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานในปัจจุบัน
สำหรับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย ในปี 2566 ปตท.สผ. เร่งดำเนินการตามแผนงานของโครงการจี 1/61 อย่างเต็มความสามารถ ด้วยการติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมจำนวน 4 แท่น จากเดิมที่ติดตั้งแล้ว 8 แท่น เตรียมแท่นเจาะ (Rig) มากกว่า 10 แท่น เพื่อเร่งการเจาะหลุมผลิต รวมถึงวางท่อใต้ทะเล โดยมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแบ่งปันผลผลิต นอกจากนี้ ยังเพิ่มการผลิตก๊าซฯ จากโครงการหลักอื่น ๆ ในอ่าวไทย ทั้งโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) และโครงการอาทิตย์ โดยสามารถผลิตก๊าซฯ ได้สูงกว่าปริมาณที่จะต้องส่งมอบตามสัญญา เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานให้แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด
บริษัทฯ ยังชนะการประมูลแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย รอบที่ 24 อีก 2 แปลง ได้แก่ แปลงจี 1/65 และแปลงจี 3/65 ซึ่งทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับโครงการที่มีการดำเนินงานอยู่แล้ว จึงส่งผลดีให้สามารถพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในอนาคต
นอกจากความก้าวหน้าในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยแล้ว บริษัทฯ ยังประสบความสำเร็จในการขยายฐานการเติบโตในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศยุทธศาสตร์ในการลงทุนที่สำคัญ ทั้งการได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงใหม่เพิ่มเติมอีก 1 แปลง และการสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ 3 แหล่ง จากหลุมสำรวจนอกชายฝั่งซาราวัก ได้แก่ หลุมสำรวจเชนด้า–1 ในโครงการมาเลเซีย เอสเค405บี หลุมสำรวจบังสะวัน–1 และหลุมสำรวจบาบาด้อน–1 ในโครงการมาเลเซีย เอสเค438 ซึ่งสามารถวางแผนที่จะเร่งรัดพัฒนาแหล่งต่าง ๆ ที่ค้นพบในรูปแบบกลุ่ม (Cluster) เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทฯ ได้เร็วขึ้นด้วย
ไม่เพียงแต่ความมุ่งมั่นในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ปตท.สผ. ยังให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ และด้วยความร่วมมือของพนักงาน ผู้รับเหมา ตลอดจนชุมชนรอบพื้นที่ปฏิบัติการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ส่งผลให้ในปี 2566 ปตท.สผ. มีผลการดำเนินงานภาพรวมด้านความปลอดภัยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อาทิ สถิติอุบัติเหตุการบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงาน และสถิติอุบัติเหตุที่มีการบาดเจ็บจากการทำงานทั้งหมด
ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
จากการที่ ปตท.สผ. ได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยวางแนวทางการดำเนินงานผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 นั้น ในปี 2566 ปตท.สผ. สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมมากกว่า 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีฐาน 2563
สำหรับแผนงานในอนาคต หนึ่งโครงการที่มีความสำคัญ คือ โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่แหล่งอาทิตย์ ในอ่าวไทย โดยปัจจุบันได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการออกแบบด้านวิศวกรรม (Front–End Engineering Design) แล้ว คาดว่าจะเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ได้ในปี 2570 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้ประมาณ 700,000–1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
เพื่อยกระดับการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซมีเทนที่สนับสนุนต่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทฯ และตอกย้ำความมุ่งมั่นในการก้าวสู่มาตรฐานชั้นนำของอุตสาหกรรม ปตท.สผ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อเข้าร่วมโครงการความร่วมมือด้านมีเทนของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (The Oil & Gas Methane Partnership 2.0 หรือ OGMP 2.0) ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเข้าร่วมลงนามในกฎบัตรของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในการประชุม COP28 ร่วมกับ 52 บริษัทผู้ก่อตั้ง โดยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมในสภาวะการทำงานปกติให้ใกล้ศูนย์มากที่สุด และขจัดการปล่อยก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) ภายในปี 2573 ตามกำหนดใน “Zero Routine Flaring by 2030” โดยเวิลด์แบงก์
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินโครงการปลูกป่ารวมทั้งฟื้นฟูและดูแลผืนป่า กว่า 29,000 ไร่ เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทฯ กำหนดไว้
ขยายสู่ธุรกิจใหม่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการสร้างการเติบโตของธุรกิจใหม่ตามแผนงานที่วางไว้ ในปี 2566 ปตท.สผ. ได้ตั้งกลุ่มงานเทคโนโลยี คาร์บอนโซลูชั่น และการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะดูแลภาพรวมการแสวงหาโอกาสการลงทุนในพลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำของบริษัทฯ ในอนาคต
โดยในปี 2566 ปตท.สผ. ได้ขยายธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาดหลายพื้นที่ ได้แก่ โครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน โดยได้รับสิทธิการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ร่วมกับ 5 บริษัทชั้นนำของโลก ในรัฐสุลต่านโอมาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมอันดับต้น ๆ ของโลก และพร้อมที่จะผลักดันการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังประสบความสำเร็จในการขยายการลงทุนในพลังงานทดแทนนอกชายฝั่งเป็นครั้งแรก โดยได้ลงทุนโดยอ้อมในโครงการ Seagreen Offshore Wind Farm ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสกอตแลนด์ ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีสัดส่วนการลงทุนในโครงการดังกล่าวร้อยละ 25.5 ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทฯ ได้ทันที การเข้าร่วมลงทุนใน 2 โครงการดังกล่าวเป็นโอกาสในการศึกษาและเรียนรู้การพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานรูปแบบใหม่แห่งอนาคตซึ่งจะเสริมสร้างให้ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทไทยมีประสบการณ์และความชำนาญมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดต่าง ๆ ในอนาคตซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
สำหรับในประเทศไทย ปตท.สผ. ยังได้ลงนามข้อตกลงร่วมมือกับบริษัท อินเป็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือระดับประเทศของหน่วยงานภาครัฐระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและประเมินศักยภาพทางธรณีวิทยาในการกักเก็บคาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบน เพื่อสนับสนุนการทำ CCS ในรูปแบบ CCS Hub ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย (EEC) ซึ่งจะช่วยอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเป้าหมายของประเทศ
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้ริเริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “ลานแสงอรุณ” ที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมที่โครงการเอส 1 ซึ่งจะช่วยประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าแบบเดิมจากก๊าซธรรมชาติ
ผลประกอบการปี 2566
สำหรับผลประกอบการทางการเงินปี 2566 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 315,216 ล้านบาท (เทียบเท่า 9,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงประมาณร้อย 6 เมื่อเทียบกับปี 2565 มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 462,007 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 48.21 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงประมาณร้อยละ 10 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-operating items) ลดลง เช่น การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน การบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) เป็นต้น จึงส่งผลให้มีกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 76,706 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,208 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิดังกล่าวมาจากโครงการที่ลงทุนในต่างประเทศทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง
ในปี 2566 ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ จำนวน 54,280 ล้านบาท โดยเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา ฯลฯ
สำหรับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ปตท.สผ. ได้ขยายความครอบคลุมการดำเนินงานและเป้าหมายระยะยาวขององค์กรให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติเพิ่มเติม โดยปัจจุบันการดำเนินงานของ ปตท.สผ. สอดรับอย่างมีนัยสำคัญใน 9 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ เป้าหมายที่ 3, 7, 8, 9, 12, 13, 14, 15 และ 16
ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ ปตท.สผ. ได้รับการจัดอันดับ การรับรองในด้านต่าง ๆ และรับรางวัล ทั้งระดับประเทศและระดับสากลจาก 22 สถาบัน รวม 34 รางวัล อาทิ ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ประจำปี 2566 เป็นปีที่ 9 ในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) ของกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซขั้นต้นและครบวงจร ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนระดับโลก FTSE4Good Index Series ได้รับรางวัลบริษัทที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น (Outstanding Company Performance Awards) รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านความยั่งยืน (Sustainability Awards of Honor) รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านนักลงทุนสัมพันธ์ (SET Award of Honor : Best Investor Relations) และรางวัลบริษัทยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรม (Best Innovative Company Awards) จากงาน SET Awards 2023 รวมทั้งได้รับผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ในระดับสูงสุด AAA นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ในระดับดีเด่น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 รางวัลจากการประเมินการกำกับดูแลกิจการระดับ “ดีเลิศ” หรือ 5 สัญลักษณ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และเป็นหนึ่งใน Top Quartile จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2566 รางวัล ESG Initiative of the Year และรางวัลจากการดำเนินโครงการเพื่อสังคมจากหลากหลายเวทีระดับโลก
ในนามของคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน ปตท.สผ. ผมขอขอบคุณผู้ถือหุ้น คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ สถาบันการเงิน หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ที่สนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทฯ ด้วยดีมาโดยตลอด ปตท.สผ. จะยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับคนไทยและประเทศไทย รวมถึง มีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ดีด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม ด้วยหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน