การจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ
ความสำคัญและพันธกิจ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธุรกิจของบริษัทในหลายด้าน ทั้งภาวะที่ความถี่ของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น นโยบายและกฎหมายข้อบังคับทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงแรงผลักดันในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
บริษัทได้ดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงและปรับตัวเพื่อรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดมากกว่าน้ำมัน และแสวงหาวิธีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางและเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Greenhouse Gas (GHG) Emissions ที่ได้ประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ปตท.สผ. จึงกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี 2593 ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครอบคลุม Scope 1 และ Scope 2 ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ และได้กำหนดเป้าหมายระหว่างทางในการลดปริมาณความเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และร้อยละ 50 ภายในปี 2583 จากปีฐาน 2563
เป้าหมายสำคัญ
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ครอบคลุม Scope 1 และ Scope 2 ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ
แนวทางการบริหารจัดการ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ บริษัทได้ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 1 และ 2) ซึ่งรวมถึงโครงการจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยการนำก๊าซเหลือทิ้งหรือก๊าซส่วนเกินกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือนำไปใช้ประโยชน์ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการลดการรั่วไหลของก๊าซมีเทน นอกจากนี้ บริษัทยังนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิตอีกด้วย บริษัทตระหนักว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการขยายธุรกิจขององค์กร ดังนั้น ปตท.สผ. ได้ร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. พัฒนาและกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing) เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาลงทุนโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท และปตท.สผ. ยังได้กำหนดเกณฑ์การจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรวมถึงราคาคาร์บอนเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจการลงทุนในโครงการใหม่สำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นอกจากนี้ เพื่อให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทยังได้เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์ (Carbon Capture, Utilization and Storage – CCUS) เทคโนโลยีการนำพลังงานหมุนเวียน พลังงานไฮโดรเจน และพลังงานคาร์บอนต่ำมาใช้ ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท
บริษัทมีการทวนสอบและตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบภายในและภายนอกอย่างสม่ำเสมอในเรื่องการจัดการและการรายงานผลการดำเนินงานก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการทบทวนเพื่อประเมินประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงานของบริษัท เพื่อนำไปกำหนดแผนการปรับปรุงต่อไป ทั้งยังมีการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้และความเข้าใจของพนักงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังแสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยได้เปิดเผยผลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งรวมถึงผลการดำเนินงานด้านการใช้พลังงานในรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืนของบริษัท และยังได้เปิดเผยผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อ CDP ตั้งแต่ปี 2553 และได้รับการจัดอันดับอยู่ใน “ระดับผู้นำ” ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดเป็นเวลา 7 ปี ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2557-2563 และ “ระดับการจัดการ” ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา อันแสดงถึงความมุ่งมั่นและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
การบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
บริษัทได้นำกรอบแนวทางของ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) มาใช้ในการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้แสดงความสอดคล้องดังกล่าวไว้ใน TCFD Report และจัดให้ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในความเสี่ยงเกิดใหม่ (Emerging Risk) ของบริษัท โดยได้มีประเมินความเสี่ยงให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการใหม่ กิจกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ และคู่ค้า ให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึงให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดที่ได้ปรับปรุงใหม่ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย ความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk) และความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) โดยความเสี่ยงทางกายภาพ คือ ความเสี่ยงจากผลกระทบทางตรง ได้แก่ ความเสี่ยงจากคลื่นความร้อน ฝนตกหนัก พายุหมุนเขตร้อน ภัยแล้ง และความเสี่ยงที่เกี่ยวกับน้ำ ส่วนความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน คือ ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย กฎเกณฑ์/กฎหมาย เทคโนโลยี ความต้องการพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และภาพลักษณ์องค์กร ทั้งนี้ การประเมินได้ครอบคลุมความเสี่ยงในระยะสั้น (2563 - 2568) ความเสี่ยงในระยะกลาง (2569 - 2578) และความเสี่ยงในระยะยาว (2579 - 2593)
ในการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพ บริษัทได้เลือกสถานการณ์ (Scenario) ในการประเมินไว้ 3 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับที่โลกมีการใช้มาตรการที่เข้มงวดที่สุด (Aggressive Mitigation) หรือ Representative Concentration Pathways หรือ RCP 2.6 2) ระดับที่โลกใช้มาตรการที่เข้มแข็ง (Strong Mitigation) หรือ RCP 4.5 และ 3) ระดับที่โลกดำเนินการไปตามปกติ (Business-As-Usual - BAU) หรือ RCP 8.5 ซึ่งอ้างอิงตามการประเมินผลกระทบโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ส่วนการประเมินความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน บริษัทได้เลือกสถานการณ์ (Scenario) ในการประเมินไว้ 3 ระดับเช่นกัน ได้แก่ 1) Stated Policies Scenario (SPS) หรือเดิมที่รู้จักในชื่อ “New Policies Scenario (NPS)” 2) Sustainable Development Scenario (SDS) และ 3) IPCC 1.5°C scenario ซึ่งสองสถานการณ์แรกอ้างอิงตามการประเมินผลกระทบโดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency - IEA) และสถานการณ์หลังอ้างอิงตามการประเมินผลกระทบโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กระบวนการประเมินความเสี่ยงนี้ช่วยให้บริษัทมั่นใจว่า การดำเนินงานของบริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายของโลกในการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส โดยบริษัทมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจมีผลกระทบต่อระดับความเสี่ยงของบริษัทอย่างใกล้ชิด อันมีผลจากการประชุม COP26 และการประกาศเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ปตท.สผ. ได้จัดทำ แผนการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงทั้งทางกายภาพและการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยได้บูรณาการแผนงานในด้านการบรรเทาผลกระทบ การปรับตัว และการยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เข้าใจถึงระดับความอ่อนไหวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของบริษัท เพื่อจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยเช่นกัน
ความร่วมมือและการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปตท.สผ. สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี 2608 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส โดย ปตท.สผ. มีความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน อาทิ เครือข่ายส่งเสริมการสร้างแนวปฏิบัติที่ดีในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซระดับโลก เครือข่ายด้านความยั่งยืนทั้งไทยและสากล เพื่อร่วมขับเคลื่อนผลักดันการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนหน่วยงานราชการ เพื่อรวมขับเคลื่อนนโยบายประเทศ อาทิ
- สมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนานาชาติ (IPIECA) และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ซึ่งทำหน้าที่วางกรอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและแนวทางและปฏิบัติที่ยั่งยืน โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือและเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนได้ที่ กรอบแนวคิดและเป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืน ตลอดจนร่วมผลักดันวาระที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact – UNGC) ภายใต้การลงนามรับรองความร่วมมือร่วมกับองค์กรอื่นๆ ในกรอบการดำเนินงานของ UNGC’s Guide for Responsible Corporate Engagement in Climate Policy ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
- คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ปตท.สผ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ) ด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก โดยนำเทคโนโลยีด้านการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน มาประยุกต์ใช้ในภาคพลังงาน และภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย
- บันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการผลักดันมาตรการและกลไกในการดำเนินงานการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชน สนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- กลุ่มความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS Technology Development Consortium) นำโดยศูนย์เทคโนโลยีและวิศวกรรมเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green economy Technology and Engineering Center) หรือศูนย์ BCGeTEC คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อศึกษาพัฒนา และผลักดันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี CCUS ให้กับประเทศไทย โดย ปตท.สผ. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ร่วมกับหน่วยงานจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ในการประกาศจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐและองค์กรสาธารณะในฐานะที่ปรึกษา
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และกลุ่ม ปตท. ได้ร่วมมือในการพัฒนาระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจสำหรับโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ในการลดหรือชดเชยการปล่อยคาร์บอนผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อสนับสนุนตลาดคาร์บอนเครดิตของ อบก. และนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดกิจกรรมภายในบริษัท การปลูกป่าเพื่อส่งเสริมการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเข้าร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme - LESS) ของ อบก. ด้วยการใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการของเสียโดยใช้หลัก 3Rs (Reduce Reuse และ Recycle) เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน พร้อมกับติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ประชุมหารือ เข้าร่วมประชุมรายงานผลการดำเนินงานประจำปี เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรจะสามารถสนับสนุนเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ รวมถึงนโยบายภาครัฐ