โครงสร้างการกำกับดูแลที่แข็งแรงและตรวจสอบได้เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ ปตท.สผ. ขับเคลื่อนองค์กรผ่านเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) เป็นผู้กำกับดูแลสูงสุดในการให้คำแนะนำและอนุมัติกลยุทธ์และเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน (Corporate Governance and Sustainability Committee) ทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องดังกล่าวในเบื้องต้น ในส่วนของการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนนั้น มีคณะกรรมการจัดการ (Management Committee) โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการทบทวนและอนุมัตินโยบายและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมทั้งทบทวนและกำหนดทิศทาง เป้าหมายความยั่งยืนของบริษัทและขับเคลื่อนผ่านกระบวนการวางแผน และการจัดการกลยุทธ์ขององค์กร

เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานด้านความยั่งยืนถูกสอดผสานไปกับการดำเนินธุรกิจ มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง และมีการสื่อสารที่ชัดเจน หน่วยงานกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กรมีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสายงานและฝ่ายต่าง ๆ เพื่อช่วยในการสื่อสารกับพนักงานจากทุกหน่วยงานขององค์กร ผู้ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการนำแผนงานไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร รวมถึงหน่วยงานกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กรยังมีหน้าที่สนับสนุนและติดตามผลและประสิทธิภาพของการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานด้านความยั่งยืน เปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนรายงานผลการดำเนินงานให้กับคณะกรรมการจัดการ และคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ

ด้วยโครงสร้างการกำกับดูแลนี้ ปตท.สผ. จึงสามารถขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้เป็นไปตามกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน ทั้งการมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization หรือ HPO) การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงและการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance หรือ GRC) และการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation หรือ SVC) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันยังสร้างคุณประโยชน์และมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

องค์ประกอบโครงสร้างฯ หน้าที่และความรับผิดชอบ ความถี่การประชุม
คณะกรรมการบริษัท
  • อนุมัตินโยบายและกลยุทธ์องค์กรของบริษัทฯ ตลอดจนกรอบการดำเนินงานและเป้าหมาย โดยมีรอบการพิจารณาทุกปี
  • กำกับดูแลกลยุทธ์ นโยบาย และแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความยั่งยืน เพื่อพัฒนาเป็นกลยุทธ์ของ ปตท.สผ.
  • ดำเนินการทบทวนประเด็นด้านความยั่งยืน รวมถึงกลยุทธ์ เป้าหมาย ความเสี่ยงและโอกาส เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและประสิทธิผลของแผนการดำเนินงาน
รายเดือน
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน
  • กำกับดูแลกลยุทธ์และกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความยั่งยืนของ ปตท.สผ.
  • กำหนดแนวทางและติดตามการดำเนินงาน ตลอดจนประเมินผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความยั่งยืน
อย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง
คณะกรรมการจัดการ
  • พิจารณาทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ที่มีผลต่อกลยุทธ์ ทิศทางการดำเนินธุรกิจ แผนการลงทุน งบประมาณ และทรัพยากรบุคคลของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยในกลุ่ม ปตท.สผ.
  • ติดตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน สนับสนุนและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเพิ่มเติมสำหรับส่วนที่ยังต้องการการปรับปรุง
รายสัปดาห์
หน่วยงานกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร
  • พัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความยั่งยืน
  • ประสานและมอบหมายพนักงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
  • ติดตามผลและประสิทธิภาพของการปฏิบัติตามแผนงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งเปรียบเทียบกับมาตรฐานทั้งกายในและภายนอกอย่างสม่ำเสมอ
  • รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการจัดการ และคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน
เป็นประจำ
ผู้บริหาร ปตท.สผ. (ระดับสายงานและฝ่าย)
  • นำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนไปบังคับใช้ โดยมอบหมายบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจน และจัดสรรทรัพยากร เพื่อส่งเสริมและรับรองประสิทธิภาพการดำเนินงานในส่วนที่รับผิดชอบ
เป็นประจำ
พนักงานทุกคน
  • ปฏิบัติงานสอดคล้องกับกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนของ ปตท.สผ.
  • สนับสนุนการปฏิบัติตามกลยุทร์ด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของตนเอง
  • สื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจในกลยุทธ์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ ปตท.สผ.
เป็นประจำ