ความสำคัญและพันธกิจ

การจัดการทรัพยากรน้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ ปตท.สผ. และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกกระบวนการ โดยบริษัทตระหนักดีว่าการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าบริษัทมีความรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

บริษัทมุ่งมั่นที่จะลดการใช้น้ำ รวมถึงการลดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทรัพยากรน้ำ อาทิ หลีกเลี่ยงการดำเนินงานในพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนน้ำ และลดการปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนั้น บริษัทส่งเสริมการบริหารจัดการทัพยากรน้ำให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชนผู้ใช้น้ำ

โดยให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน บริษัทไม่เพียงปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังสนับสนุนเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะยาวและสร้างคุณค่าขององค์กร ผ่านการตระหนักถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ (ดิน ทะเล น้ำจืด และบรรยากาศ) ธุรกิจ และสังคม ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ (Taskforce on Nature-related Financial Disclosure – TNFD)

เป้าหมายสำคัญ

  • 1 บริษัทมุ่งมั่นที่จะหลีกเลี่ยงการดำเนินงานในพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนน้ำ และบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนผู้ใช้น้ำ
  • 2 บริษัทควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำจากกระบวนการผลิตออกสู่สิ่งแวดล้อม

แนวทางการบริหารจัดการ

เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการจัดการน้ำ บริษัทมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่/รีไซเคิล รวมถึงกำหนดเป้าหมายหลีกเลี่ยงการดำเนินงานในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ รวมถึงการจัดให้มีโครงการการจัดการน้ำที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินงานในพื้นที่ที่มีแนวโน้มที่มีการขาดแคลนน้ำ และบริษัทยังให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบจากน้ำจากกระบวนการผลิต โดยกำหนดเป้าหมายการนำน้ำที่ผลิตได้ทั้งหมดอัดกลับไปสู่ชั้นหินใต้ดิน (Produced Water Injection) สำหรับการดำเนินงานของโครงการในประเทศไทย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมาตรฐานความปลอดภัยและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ หากเป็นโครงการที่มีข้อจำกัดด้านการจัดการน้ำจากกระบวนการผลิต บริษัทจะปฏิบัติตามมาตรการของกฎหมายที่กำหนดไว้ในประเทศที่ตั้งโครงการเช่นกัน

เพื่อให้มีการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน บริษัทได้กำหนดกรอบการบริหารจัดการความเสี่ยง และตามกระบวนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย การนำแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการมาปรับใช้ โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำที่ใช้และน้ำทิ้งที่ปล่อยกลับคืนสู่แหล่งน้ำ ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ร่วมกับการกำหนดมาตรการใช้น้ำตามลำดับขั้นตอนของการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency Hierarchy) สอดคล้องกับแนวทางของสมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนานาชาติ (IPIECA) รวมถึงการเฝ้าติดตามและรายงานผลการดำเนินงานของกิจกรรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำและการทิ้งน้ำ โดยเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงการสนับสนุนการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพทั้งกับบริษัทและชุมชน

บริษัทแสดงถึงความยึดมั่นในความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของบริษัท โดยได้เปิดเผยผลการดำเนินงานสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับน้ำ ในรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืน รวมถึง CDP ตั้งแต่ปี 2560 และได้รับการจัดอันดับอยู่ใน “ระดับผู้นำ” ในปี 2560 และ“ระดับการจัดการ” ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ซึ่งแสดงถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

การบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ทรัพยากรน้ำมีความสำคัญต่อกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัทจึงได้ประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำในทุกพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อป้องกันปัญหาคุณภาพน้ำและการขาดแคลนน้ำในชุมชนรอบข้าง รวมถึงศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การอนุรักษ์น้ำ และให้ความสำคัญกับโปรแกรมการตรวจสอบรอยรั่ว ซ่อมบำรุง และลดปริมาณการสูญเสียน้ำจากกิจกรรมที่ไม่จำเป็นด้วย

ตั้งแต่ปี 2556 บริษัทได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการน้ำในทุกพื้นที่ปฏิบัติการที่อยู่ภายใต้การปฏิบัติงานของบริษัทให้ครอบคลุมประเด็นความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะการขาดแคลนน้ำ ราคาของน้ำและการจัดการน้ำ ข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการใช้น้ำ รวมถึงโอกาสการเกิดความขัดแย้งด้านการใช้น้ำกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยในการประเมินความเสี่ยงได้ใช้ข้อมูลทั้งจากข้อมูลจริงในพื้นที่และข้อมูลจากเครื่องมือคาดการณ์สถานการณ์น้ำในอนาคตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น WRI Aqueduct และ WWF Water Risk Filter ทั้งนี้ บริษัทได้ประเมินความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต (สำหรับปี 2563 และปี 2573) และนำผลที่ได้มากำหนดเป้าหมายและแนวทางการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัทได้ทบทวนการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำและการวิเคราะห์ระดับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำ การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ความต้องการด้านน้ำ และความขัดแย้งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้น้ำของบริษัทให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งผลที่ได้แสดงให้เห็นว่า บริษัทยังไม่มีความเสี่ยงหรือผลกระทบที่มีนัยสำคัญในทุกสภาวการณ์สำหรับทุกโครงการที่ทำการประเมิน อย่างไรก็ตาม จากผลการประเมินพื้นที่ที่มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ (Water Stress Area) ซึ่งอ้างอิงตาม WRI Aqueduct Water Risk Atlas พบว่า พื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเอส 1 และแอล 22/43 โครงการพีทีทีอีพี 1 และโครงการสินภูฮ่อม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำในประเทศไทย โดยมีสรุปผลการประเมินดังนี้

การประเมินความเสี่ยงเชิงการพึ่งพาและเชิงผลกระทบด้านน้ำ
ผลการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพจาก WWF Water Risk Filter และ Biodiversity Risk Filter พบว่าโครงการสินภูฮ่อมอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะการขาดแคลนน้ำสูง แต่การดำเนินงานของบริษัทไม่ได้พึ่งพาการใช้น้ำจำนวนมาก โดยการประเมินทั้งสองเรื่องบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติและภาวะปัญหาของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งโครงการสินภูฮ่อมมีความเสี่ยงจากอุทกภัยและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่วนผลการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำจาก WRI Aqueduct พบว่ามี 3 โครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ ได้แก่ โครงการเอส 1 และแอล 22/43 โครงการพีทีทีอีพี 1 และโครงการสินภูฮ่อม
การประเมินความเสี่ยงด้านปริมาณและคุณภาพน้ำในอนาคต
ผลจากการประเมินของบริษัทได้คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจืดยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการประเมินครั้งก่อน โดยพิจารณาจากข้อมูลอัตราการผลิตและอัตราการใช้น้ำของบริษัท ซึ่งการใช้น้ำยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญจากการดำเนินงานและการสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียมตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
การประเมินผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่รอบแหล่งน้ำ
การประเมินความขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคต แสดงให้เห็นว่าไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทจนถึงปี 2573 โดยมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำที่มากเกินไป
การประเมินความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของแต่ละประเทศ
โครงการที่ดำเนินงานในประเทศไทย ประเทศพม่า และประเทศมาเลเซีย อาจเผชิญกับการควบคุมทางกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น แต่จากการคาดการณ์พบว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นภัยคุกคามที่ไม่ร้ายแรงต่อการดำเนินงานจนถึงปี 2573

ปตท.สผ. ดำเนินมาตรการจัดการน้ำตามลำดับขั้นตอนของการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency Hierarchy) ตัวอย่างเช่น การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ได้แก่ การนำน้ำจากกระบวนการผลิต (Produced Water) มาใช้ทดแทนน้ำจืดในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยริเริ่มโครงการธนาคารน้ำทำร่วมกับชุมชนในพื้นที่ที่อาจประสบปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำ และยังคงดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง

ปตท.สผ. ไม่เพียงแต่ดำเนินโครงการจัดการน้ำตามหลักการใช้ประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างเสริมความตระหนักรู้ให้แก่พนักงานอีกด้วย โดยบริษัทจัดฝึกอบรมพนักงานในด้านเพิ่มจิตสำนึกเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกกระบวนการปฏิบัติงาน ได้แก่ การปรับกระบวนการใช้น้ำให้เหมาะสมสำหรับงานขุดเจาะ และการปรับปรุงระบบรีไซเคิลน้ำให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ หลักสูตรการอบรมยังมีการนำเสนอบทวิเคราะห์กรณีศึกษา (Case Studies) ที่ประสบความสำเร็จในด้านการจัดการน้ำจากกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะและความรู้ให้แก่พนักงานให้มีการริเริ่มโครงการที่มีการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

การบริหารจัดการน้ำจากกระบวนการผลิต

สำหรับโครงการในประเทศไทย บริษัทได้ควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำจากกระบวนการผลิตออกสู่สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีอัดน้ำจากกระบวนการผลิตกลับสู่แหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว และถึงแม้ว่าแนวโน้มของน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิตจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและอายุของแหล่งกักเก็บ บริษัทก็ยังคงสามารถรักษาประสิทธิภาพของระบบอัดกลับน้ำจากกระบวนการผลิตได้ทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน สำหรับโครงการสินภูฮ่อมได้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยไม่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ปตท.สผ. ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำจากกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในหลายกิจกรรม ซึ่งส่งผลให้โครงการใช้น้ำจืดในปริมาณลดน้อยลง โดยโครงการริเริ่มนี้รวมไปถึงการศึกษาหาความเป็นไปได้ในการนำน้ำจากกระบวนการผลิตที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ภายในกระบวนการดำเนินงานของ ปตท. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการได้รับอนุญาตจากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง