เส้นทางด้านความยั่งยืน

ปตท.สผ. มีแนวคิดที่จะก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ ในปี 2528 โดยเริ่มมุ่งสู่การเป็น "องค์กรสีเขียว" ที่เน้นการดูแลและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ต่อมาบริษัทฯ ได้เริ่มนำแนวคิดด้านความยั่งยืนที่มีองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้ จนในปี 2554 ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact – UNGC) เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะยึดถือปฏิบัติตามหลักการ 10 ประการของ UNGC ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอร์รัปชัน โดย ปตท.สผ. เข้าร่วมรายงานความก้าวหน้าการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ (Communication on Progress) ต่อ UNGC เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2555 มาจนถึงปัจจุบัน

2528–2543
องค์กรสีเขียว
  • เน้นการดูแลและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
  • เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development – TBCSD) ตั้งแต่ปี 2536
2544–2554
แนวคิด ESG
  • นําแนวคิดด้าน ESG มาปรับใช้ในองค์กร
  • เข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact – UNGC) ตั้งแต่ปี 2554
2555–2561
Outside In
  • นําเกณฑ์การประเมินด้านความยั่งยืนระดับสากลมาปรับใช้ เช่น DJSI, MSCI, FTSE4Good เป็นต้น
  • รายงานผลการดําเนินงานด้านความยั่งยืนสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) และกรอบการรายงานและบริหารจัดการความยั่งยืนระดับสากลของ International Petroleum Industry Environmental Conservation Association (IPIECA)
2562–ปัจจุบัน
Inside Out
  • จัดทํากรอบแนวคิดและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน
  • เปลี่ยนวิสัยทัศน์เป็น Energy Partner of Choice
  • ประกาศ PTTEP Sustainability Statement เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่จะดําเนินการ ไปสู่ความยั่งยืน

นอกจากนั้น ปตท.สผ. ได้นำเกณฑ์การประเมินด้านความยั่งยืนในระดับสากลต่าง ๆ เช่น กลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices – DJSI), MSCI, FTSE4Good เป็นต้น มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมถึงยังรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) และกรอบการรายงานและบริหารจัดการความยั่งยืนระดับสากล International Petroleum Industry Environment Conservation Association (IPIECA) อีกด้วย

ในปี 2562 ปตท.สผ. จัดทำกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนพร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายระยะยาว (ปี 2573) ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์หลักไว้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความยั่งยืนจากภายในองค์กรผ่านการดำเนินงานที่ดีบนรากฐานที่แข็งแกร่ง และส่งมอบคุณค่า สร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมโดยรวมได้ในที่สุด (From We to World)

ในปี 2563 คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทสำคัญในการผลักดันด้านความยั่งยืนขององค์กรเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้กำหนดเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืน (Sustainability Statement) เพื่อใช้สื่อสารให้พนักงานทุกคนรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ มีความเข้าใจที่ตรงกันในแนวทางด้านความยั่งยืนขององค์กร นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมีคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน ซึ่งมีขอบเขตความรับผิดชอบ ได้แก่ การกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแผนงานการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจและด้านความยั่งยืนของบริษัท ส่งเสริมการดำเนินงานในด้านความยั่งยืนในภาพรวม พร้อมทั้งติดตาม ประเมินผล และเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง

เจตนารมณ์ด้านความยั่งยืนของ ปตท.สผ.

ความยั่งยืนของ ปตท.สผ. หมายถึง การเป็นองค์กรที่ดําเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบ สามารถรับมือต่อความท้าทายต่าง ๆ เพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมมุ่งมั่นในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 โดยขับเคลื่อนผ่านกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน ซึ่งมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การพัฒนาสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization – HPO) การกํากับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกํากับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance – GRC) และการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation – SVC)

ปตท.สผ. มีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตผ่านธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงขยายการลงทุนที่นอกเหนือจากการสํารวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเน้นในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และพลังงานแห่งอนาคต นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความแข็งแกร่งในการดําเนินงาน มุ่งสู่การเป็นองค์กรต้นแบบด้านการกํากับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกํากับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ รวมถึง การเป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ บริษัทฯ ให้ความสําคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

อนุมัติโดยคณะกรรมการ ปตท.สผ. วันที่ 19 สิงหาคม 2565


กรอบแนวคิดและเป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืน

กรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน

ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเกิดจากการสร้างสมดุลที่เหมาะสม หรือ "Right Balance" ระหว่างธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงพัฒนา "กรอบแนวคิดด้านความยั่งยืน" เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ ปตท.สผ. สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความยั่งยืนจากภายในผ่านการดำเนินงานที่ดี บนรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง เพื่อส่งมอบคุณค่าในระยะยาวให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม พร้อมทั้งสร้างความยั่งยืนให้สังคมในองค์รวม หรือ From We to World ตามวิสัยทัศน์การเป็น "Energy Partner of Choice" ขององค์กร ซึ่งกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนนี้ประกอบด้วยการมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization หรือ HPO) การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงและการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance หรือ GRC) และการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation หรือ SVC) โดยกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนนี้ยังสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals – UN SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจำนวนทั้งสิ้น 9 เป้าหมายที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและเป้าหมายระยะยาวของบริษัทฯ ได้แก่ เป้าหมายที่ 3, 7, 8, 9, 12, 13, 14, 15 และ 16

การมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization – HPO)

มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพขององค์กรเพื่อให้มีการพัฒนาผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพลังงานในอนาคต

การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance – GRC)

มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนให้กับองค์กร โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลการกำกับดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเหมาะสม ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation – SVC)

มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญในการสร้างคุณค่าในระยะยาวแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านการเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชนและสังคม

กระบวนการประเมินประเด็นสำคัญของ ปตท.สผ.

ในปี 2566 ปตท.สผ. ได้ประเมินและทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ครอบคลุมด้าน ESG ตามหลักการประเมินแบบ Double Materiality ได้แก่ ระดับความสำคัญเชิงผลกระทบต่อ ปตท.สผ. และระดับความสำคัญเชิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม (รวมถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน) และการกำกับกิจการและเศรษฐกิจ ผ่านมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย 8 กลุ่มหลัก ซึ่งประกอบด้วย (1) หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล (2) คู่ค้า (3) ลูกค้า (4) พนักงานและกรรมการบริษัท (5) ผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงิน (6) พันธมิตรและผู้ร่วมลงทุนทางธุรกิจ (7) ชุมชนและสังคม (8) สื่อมวลชน โดย ปตท.สผ. ได้จัดลำดับความสำคัญอย่างเป็นระบบตามหลักการ Double Materiality ดังกล่าวข้างต้น ตามขั้นตอนภายใต้กรอบการรายงาน Global Reporting Initiative Standards: GRI Standards (2021) และ AA1000 AccountAbility Principles : AA1000AP (2018) โดยประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ได้ถูกรวบรวมมาจากแนวโน้มและทิศทางด้านความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและในระดับสากลที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และ SASB Materiality MapTM ของ Sustainability Accounting Standards Board (SASB) ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยผลการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนจะนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสำคัญเพื่อพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์องค์กร รวมถึงบูรณาการเข้าสู่กระบวนการบริหารความเสี่ยงองค์กรเพื่อให้ ปตท.สผ. สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่เป็นประเด็นสำคัญต่อความยั่งยืนขององค์กรได้อย่างทันท่วงที โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • 1 การทำความเข้าใจบริบทขององค์กร
  • ทบทวนบริบทขององค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ บริบทด้านความยั่งยืน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
  • ทบทวนแนวโน้มโลกและเปรียบเทียบการดำเนินธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดประเด็นสำคัญเบื้องต้น
  • 2 การระบุผลกระทบที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น
  • ระบุผลกระทบของประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจริงและที่มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม (รวมถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน) และการกำกับกิจการและเศรษฐกิจ ทั้งทางบวกและทางลบ ตลอดจนโอกาสในการมีส่วนร่วมเชิงบวกในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งครอบคลุมทุกกิจกรรมการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่านแบบสำรวจในรูปแบบออนไลน์
  • 3 การประเมินผลกระทบที่มีนัยสำคัญ

อ้างอิงตามหลักการประเมินประเด็นสำคัญแบบ Double Materiality ซึ่งมีวิธีการประเมินดังนี้ :

  • มีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก เพื่อรับฟังและรวบรวมมุมมองเกี่ยวกับผลกระทบของบริษัทฯ ต่อด้านต่าง ๆ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม (รวมถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน) และการกำกับกิจการและเศรษฐกิจ
  • มีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียภายใน (กลุ่มพนักงาน) เพื่อรับฟังมุมมองผลกระทบที่เกี่ยวข้องในบริบทด้านความยั่งยืนที่มีต่อบริษัทฯ
  • ประเมินและกำหนดผลกระทบที่มีนัยสำคัญที่ได้จากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โดยพิจารณาใน 2 มิติ คือ 1) ความรุนแรง ได้แก่ ขนาด ขอบเขต และการไม่สามารถเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพปกติ และ 2) ความเป็นไปได้ของการเกิดผลกระทบเหล่านั้น
  • 4 การจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบที่มีนัยสำคัญ
  • กำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน
  • ทวนสอบประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนเทียบกับความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญภายนอก โดยทบทวนประเด็นสำคัญครอบคลุมด้าน ESG จากนั้นนำคะแนนผลกระทบที่ได้จากการทวนสอบของผู้เชี่ยวชาญรวมเข้ากับคะแนนผลกระทบที่ได้จากผู้มีส่วนได้เสีย
  • นำเสนอประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนต่อคณะกรรมการจัดการ (Management Committee) เพื่อพิจารณาเห็นชอบและคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน (Corporate Governance and Sustainability Committee) เพื่อรับทราบในประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ
  • ผนวกประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร
  • รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนทั้งหมดและเปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ต่อสาธารณชนในหลากหลายช่องทางเพื่อตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนประจำปี 2566

กลยุทธ์ขององค์กรและเป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืน

ปตท.สผ. มุ่งมั่นสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนจากภายในสู่ภายนอก (From We to World) และสนับสนุนเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติที่คำนึงผลประโยชน์ร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยมีกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมปรับตัวทางธุรกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ปตท.สผ. กำหนด 3 แนวทางหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจพร้อมเป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืนครอบคลุมด้าน ESG ดังนี้

3 แนวทางหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจ

การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
  • สร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจสารวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และเสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะการตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย
    • เพิ่มอัตราการผลิตและโอกาสการขายก๊าซธรรรมชาติและน้ํามันดิบจากโครงการในปัจจุบัน
    • เร่งดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งใหม่
    • เร่งการพัฒนาและผลิตจากโครงการสำรวจที่มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติหรือนํ้ามันดิบ
  • เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการดำเนินงาน
  • เน้นการลงทุนโครงการก๊าซธรรมชาติรวมถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LPG) โดยมุ่งเน้นการลงทุนในส่วนของต้นน้ำและกลางน้ำ
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • บริหารจัดการ E&P Porfolio ในการหลีกเลี่ยงการเกิดก๊าซเรือนกระจก
  • ดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนงานและหาโอกาสจากการพัฒนาเทคโนโลยี
  • เร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CSS)
  • เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและมองหาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ปฎิบัติการ
  • ดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) อย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการปลูกป่าและการดูดซับคาร์บอนจากมหาสมุทร (Blue Carbon) ภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life)
การเติบโตในธุรกิจใหม่
  • เร่งสร้างการเติบโตให้กับบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี)
  • พัฒนาธุรกิจการดักจับและกักเก็บคาร์บอนเชิงพาณิชย์ (CSS as a Service)
  • แสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงพลังงานหมุนเวียนนอกชายฝั่ง

เป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืน (ESG) และ SDGs ที่มุ่งเน้น

  • สร้างอัตราการเติบโตของปริมาณผลิตเฉลี่ยต่อปี (อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น หรือ CAGR) ที่ร้อยละ 5
  • รักษาอัตราส่วนของปริมาณสํารองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วต่ออัตราการผลิต (R/P) ไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • รักษาต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้กับธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียม
  • จัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุนในธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานร้อยละ 10 จองงบลงทุนรวมในปี 2567–2573
  • บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 ครอบคลุม Scope 1 และ Scope 2 ในธุรกิจ E&P ที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดําเนินการ
  • ลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และร้อยละ 50 ภายในปี 2583 (จากปีฐาน 2563)
  • ลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซมีเทนให้ได้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 0.2 ภายในปี 2573
  • นําโครงสร้างหลักจองธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมมาใช้ใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยยังคงสภาพการทํางานที่เหมาะสม ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ภายใน ปี 2573
  • ปราศจากของเสียที่ก่าจัดโดยวิธีฝังกลบภายใน ปี 2573
  • สร้างมูลค่าเชิงบวกต่อความหลากหลายทาง ชีวภาพและบริการทางระบบนิเวศสําหรับพื้นที่ปฏิบัติการนอกชายฝั่งภายในปี 2573 เทียบกับปีฐาน 2562
  • ไม่ดําเนินงานในพื้นที่มรดกโลกตามเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO)
  • ปราศจากการตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่าสําหรับโครงการสํารวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด
  • ปลูก ฟื้นฟู และดูแลผืนป่าจํานวน 256,000 ไร่ ภายในปี 2571
  • ปราศจากการหกรั่วไหลของนํ้ามันและสารเคมี
  • เพิ่มจํานวนเครือข่ายอนุรักษ์เป็น 16,000 ราย ภายในปี 2573
  • เป็นองค์กรที่ปราศจากอุบัติเหตุ
  • เพิ่มระดับความผูกพันต่อองค์กรของชุมชนอยู่ที่ ระดับ 4 (สนับสนุน)
  • เพิ่มรายได้ของชุมชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการของ ปตท.สผ. ให้ได้ร้อยละ 50 เทียบกับ ก่อน ปตท.สผ. เข้าดําเนินโครงการ
  • เป็นองค์กรต้นแบบด้าน GRC ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนไทย
  • เพิ่มระดับ GRC Maturity สู่ระดับสูงสุด (Advantaged – GRC เป็นส่วนหนึ่งของการดําเนินธุรกิจ)
  • ปราศจากการไม่ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์และปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน

SDGs ที่สนับสนุน


การพัฒนาความร่วมมือและเครือข่ายเพื่อความยั่งยืน

เครือข่ายความร่วมมือนับเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ปตท.สผ. จึงให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านธุรกิจควบคู่กับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตามกรอบแนวคิดและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและองค์การสหประชาชาติ สอดรับกับวิสัยทัศน์องค์กร "Energy Partner of Choice"

ปัจจุบัน ปตท.สผ. เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายด้านความยั่งยืน อาทิ สมาชิกของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact – UNGC) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development – TBCSD) เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) และชมรม ESG Network โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย

ปตท.สผ. ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกับหน่วยงานของรัฐ โดยนำองค์ความรู้และโครงการริเริ่มของ ปตท.สผ. มาช่วยแก้ไขปัญหาระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น ผ่านการมีส่วนร่วมในหลากหลายช่องทาง อาทิ การเป็นคณะอนุกรรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย รวมถึงบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่กับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่ม ปตท. นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นนำผ่านความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาจากองค์ความรู้ของแต่ละฝ่าย ผ่านกลไกการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือบันทึกความเข้าใจ ได้แก่ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเสริมสร้างความยั่งยืนของมหาสมุทรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติผ่านกลไกการมีส่วนร่วมกับชุมชนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

นอกจากนั้น ปตท.สผ. ยังมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องในร่างข้อกำหนดและกฎหมายที่สำคัญต่าง ๆ ในระดับประเทศ เช่น ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่างพระราชบัญญัติการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในเชิงพื้นที่และชนิดพันธุ์ รวมถึงร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจากการทบทวนพบว่าร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มทางเศรษฐกิจดังกล่าว ปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยบริษัทจะติดตามความก้าวหน้าของร่างการจัดกลุ่มทางเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมถึงหามาตรการและแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการต่อไป