ความสำคัญและความมุ่งมั่น

ปตท.สผ. ให้คุณค่ากับการพัฒนาสังคม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวทางการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการประชุมกิจกรรมและจัดทำโครงการพัฒนาสังคมต่าง ๆ ในพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ปตท.สผ. ได้จัดทำแผนกลยุทธ์ระยะยาวสำหรับโครงการพัฒนาสังคมขึ้น โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการเติบโตขององค์กร สร้างคุณค่าให้แก่สังคมและชุมชน สร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากชุมชนรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องตามนโยบายบริหารจัดการชุมชนสัมพันธ์และนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ยอมรับ และสนับสนุนการดำเนินงานอันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรและสังคมโดยรวม

เป้าหมายสำคัญ

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ปตท.สผ. มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความสมดุลขององค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยได้นำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals – UN SDGs) มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
ปตท.สผ. ดำเนินโครงการพัฒนาสังคมเพื่อคืนความสมบูรณ์สู่ท้องทะเลไทยภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ซึ่งสอดคล้องกับ SDG 14 ผ่านโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจและการจัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ เพื่อปลูกจิตสำนึกด้านการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมถึงแผนการจัดตั้งโรงพยาบาลเต่าทะเลในจังหวัดสงขลา อีกทั้งมีแผนสนับสนุนการปลูกและบำรุงป่าชายเลน ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และต่อยอดขยายผลความสำเร็จของโครงการไปยังพื้นที่ปฏิบัติการอื่น ๆ ของบริษัท
ในปี 2563 ปตท.สผ. ได้ริเริ่มโครงการเพื่อสังคมภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ที่ครอบคลุมกิจกรรมด้านการปลูกป่าชายเลน การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและขยะในทะเล การรักษาระบบนิเวศน์และเพิ่มทรัพยากรทางทะเล รวมถึงการสร้างเสริมสมรรถนะและศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดให้กับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน
การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
ปตท.สผ. ดูแลสุขภาพและอนามัยของชุมชนด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมให้คนทุกช่วงอายุมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับ SDG 3 บริษัทจึงจัดทำ โครงการแพทย์เคลื่อนที่กับ ปตท.สผ. ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โครงการพัฒนาโรงพยาบาลในประเทศไทย และโครงการพยาบาลชุมชน เพื่อประโยชน์ของชุมชนและสาธารณชนทั่วไป
พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
ปตท.สผ. ร่วมส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงพลังงานอย่างยั่งยืนและประหยัด โดยสนับสนุนการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก ซึ่งสอดคล้องกับ SDG 7 อาทิ โครงการขยะสู่พลังงาน ซึ่งนำของเสียในครัวเรือนมาผลิตเป็นก๊าซหุงต้ม นอกจากจะเป็นการบริหารจัดการของเสียที่ดี ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน และชุมชนยังได้ปุ๋ยชีวภาพซึ่งเป็นผลพลอยได้มาใช้อีกด้วย จากผลสำเร็จของโครงการดังกล่าวในประเทศไทย บริษัทได้ขยายโครงการนี้ไปยังชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติการแหล่งซอติก้า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาด้วย
การศึกษาที่เท่าเทียม
ปตท.สผ. สนับสนุนโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับ SDG 4 โดยให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษาในทุกพื้นที่ปฏิบัติการ ผ่านโครงการทุนการศึกษาประจำปี และทุนการศึกษาต่อเนื่องในระดับปริญญาตรี แก่นักเรียนในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัททั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังสนับสนุนโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยในประเทศไทยนั้น ปตท.สผ. ร่วมกับกลุ่ม ปตท. ก่อตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์และ สถาบันวิทยสิริเมธี เพื่อยกระดับการศึกษาและพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ

ภาพรวม ความคาดหวัง และแนวทางการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน ปตท.สผ. ได้กำหนดกรอบการบริหารจัดการการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมสำหรับ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อประโยชน์ของสังคมและชุมชนอย่างแท้จริง โดยได้กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม นโยบายบริหารจัดการชุมชนสัมพันธ์ และแนวทางการให้เพื่อสังคม เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของทุกพื้นที่ปฏิบัติการ นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความใส่ใจและสนับสนุนด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่ พร้อมสนับสนุนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานโดยเน้นการมีส่วนร่วมและสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ภายใต้นโยบายที่มุ่งเน้นการดำเนินการโครงการเพื่อพัฒนาสังคมในสัดส่วนที่มากกว่าการบริจาค โดย ปตท.สผ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสังคมในเชิงกลยุทธ์แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

โครงการเพื่อสังคม

ปตท.สผ. ได้ดำเนินโครงการเพื่อสังคมภายใต้ 4 แนวคิดหลัก คือ ความต้องการพื้นฐาน การศึกษา สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานเป็น 2 ระดับ คือในระดับมหภาคและในระดับจุลภาค

1
ระดับมหภาค

ปตท.สผ. วางเป้าหมายในการดำเนินงานโครงการเพื่อสังคมภายใต้ กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ภายใต้แผนระยะยาว 10 ปี (พ.ศ. 2563 – 2573) เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องทะเลไทย ควบคู่ไปกับการสร้างงาน เพิ่มรายได้แก่ชุมชน ใน 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ซึ่งสอดคล้องกับ UN SDG 14 : การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน (Life Below Water) โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ 3P ประกอบด้วย

เพิ่มรายได้ของชุมชนกลุ่มเป้าหมายให้ได้ ร้อยละ 50 และเพิ่มจํานวนเครือข่ายอนุรักษ์เป็น 16,000 ราย ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับ ก่อน ปตท.สผ. เข้าดําเนินโครงการ
Protect
คือ การปกป้องท้องทะเลด้วยการบริหารจัดการขยะทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้มลภาวะจากบนบกลงสู่ท้องทะเล
Preserve
คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ด้วยการปลูกป่าชายเลน และพัฒนาศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจและสัตว์ทะเลหายาก
Provide
คือ การสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โครงการเพื่อสังคม ภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ตามกลยุทธ์ 3P ครอบคลุมถึงการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเล และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยและพึ่งพาทรัพยากรจากทะเลผ่าน 6 โครงการ ดังนี้ โครงการบริหารจัดการขยะทะเล โครงการปลูกป่าชายเลน โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล โครงการจัดทำแนวเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลและบ้านปลา และโครงการเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล

ตัวชี้วัดและผลการดำเนินงานของโครงการพัฒนาสังคมในระดับมหภาค แสดงให้เห็นดังโครงการ ตัวอย่างเช่น

โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

โครงการสามารถเพิ่มปริมาณลูกปูคืนสู่ท้องทะเล เป็นแหล่งรายได้ของชุมชนอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับ UN SDGs เป้าหมายที่ 14 โดยในปี 2568 ปตท.สผ. มีแผนก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจรวมจำนวน 19 แห่ง ครอบคลุม 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย โดยปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้สนับสนุนการดำเนินการศูนย์ฯ แล้วเสร็จรวมจำนวน 10 แห่ง ใน 8 จังหวัดรอบอ่าวไทย โดยมีสมาชิกเครือข่ายการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำนวน 3,563 คน และผลจากการดำเนินงานสามารถทำให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 80,768 บาท/ครัวเรือน/ปี จากการจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) ของโครงการนี้เท่ากับ 4.13 : 1

2
ระดับจุลภาค

ปตท.สผ. ดำเนินงานโครงการเพื่อสังคมในพื้นที่ปฏิบัติการภายใต้แนวคิด 4 แนวคิดหลัก คือ ความต้องการพื้นฐาน การศึกษา สิ่งแวดล้อม และ วัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นให้ทุกโครงการและกิจกรรมสร้างประโยชน์โดยตรงแก่ชุมชนในการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงานและโอกาสการจ้างงานคนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การได้รับการสนับสนุนจากชุมชนและสังคมในทุกพื้นที่การดำเนินงานของบริษัท ซึ่งจะสนับสนุนปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจ "Zero Disruption to Operations" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียเชื่อถือไว้วางใจ สนับสนุนการดำเนินงานของ ปตท.สผ. และมีความผูกพันต่อองค์กรในระดับ "การสนับสนุน" และเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น โดยไม่มีข้อขัดแย้ง หรือการคัดค้านต่อต้านจากชุมชน

การสร้างคุณค่าร่วม

การสร้างคุณค่าร่วมคือ รูปแบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ที่บริษัทดำเนินการเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ โดยใช้วิธีการทางธุรกิจในการแก้ปัญหา หรือรับมือกับความท้าทาย

ปตท.สผ. ได้ใช้แนวทางการให้ความช่วยเหลือเชิงกลยุทธ์ในลักษณะสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคม จึงได้คัดเลือกโครงการเพื่อสังคมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม โดยเน้นการประยุกต์ความถนัดความเชี่ยวชาญของ ปตท.สผ. และการใช้โครงข่ายธุรกิจ สนับสนุนการทำงานของชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเพื่อพัฒนาแรงงานฝีมือด้านเทคนิคเข้าสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเมียนมา และโครงการก๊าซธรรมชาติเพื่อเกษตรชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ปตท.สผ. ร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และชุมชนตำบลหนองตูม อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดยการนำก๊าซส่วนเกินที่ได้จากกระบวนการผลิตที่สถานีผลิตย่อยหนองตูมมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรแทนการเผาทิ้งตามกระบวนการจัดการก๊าซส่วนเกิน


วิสาหกิจเพื่อสังคม

วิสาหกิจเพื่อสังคมคือ กิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจ เพื่อให้มีความยั่งยืนทางการเงินจากรายได้หลักที่มาจากสินค้าหรือบริการ โดยไม่ต้องพึ่งพาการบริจาค และนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนเพื่อขยายผลในชุมชน

ในระดับนโยบาย ปตท.สผ. ร่วมกับกลุ่ม ปตท. จัดตั้ง บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (Sarn Palung Social Enterprise Company Limited – SPSE) ซึ่งเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบ Social Enterprise (SE) ให้เป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหา พัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว อาทิ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง โครงการวิสาหกิจเพื่อสังคม ร้านกาแฟอเมซอนเพื่อการสร้างโอกาส และ โครงการวิสาหกิจชุมชน Sobis Pammase ในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย


การเป็นพลเมืองดีของสังคม

การเป็นพลเมืองดีของสังคมและกลยุทธ์การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนของ ปตท.สผ.

ในฐานะพลเมืองที่ดีของสังคม ปตท.สผ. ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน สำหรับพื้นที่ปฏิบัติการต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ได้พิจารณาถึงความต้องการทางสังคมของแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ

ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ปฏิบัติการผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนและองค์กรด้วยการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ถูกต้อง ควบคู่กับการมีส่วนร่วมของพนักงานในการพัฒนาสังคมและชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน นอกจากนี้ บริษัทได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อวัดระดับความผูกพันของผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อบริษัท และนำผลที่ได้จากการสำรวจฯ มาจัดทำแผนงานโครงการพัฒนาสังคมและชุมชนสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการยอมรับและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. โดยได้จำแนกระดับความผูกพันของผู้มีส่วนได้เสียออกเป็น 4 ระดับคือ 1. ระดับการรับรู้ 2. ระดับความเข้าใจ 3. ระดับการมีส่วนร่วม และ 4. ระดับการสนับสนุน โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับความผูกพันของผู้มีส่วนได้เสียหลักในพื้นที่ปฏิบัติการให้อยู่ในระดับ 4 เพื่อช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุน ในการยกระดับความผูกพันของผู้มีส่วนได้เสีย ปตท.สผ. จึงดำเนินกิจกรรมที่มุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ปตท.สผ. มีกลยุทธ์การดำเนินงานโครงการเพื่อสังคมด้วยการสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Value Creation) โดยบริษัทยังคงมุ่งเน้นโครงการเพื่อสังคมด้านความต้องการพื้นฐานอีกทั้งยกระดับโครงการเพื่อสังคม (CSR) ที่มีศักยภาพไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม (CSV) และยังคงดำเนินการโครงการวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

ด้วยความมุ่งหวังที่จะดำเนินการโครงการพัฒนาสังคมของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินโครงการเพื่อสังคมของ ปตท.สผ. จะเกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง ปตท.สผ. วิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment – SROI) ของโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ โดยปัจจุบันได้วิเคราะห์ไปแล้วจำนวน 28 โครงการ โดย โครงการใดที่มีผลตอบแทนน้อยกว่า 2 เท่าของต้นทุนการดำเนินโครงการ บริษัทจะหาแนวทางปรับปรุงเพื่อให้มีผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนให้มากขึ้น


กิจกรรมเพื่อสาธารณกุศล

ปตท.สผ. ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การบริจาคจนถึงการดำเนินโครงการเพื่อสังคมระยะยาว

นับตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ซึ่งถือเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขของประเทศและของโลก ปตท.สผ. ได้ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศที่บริษัทมีพื้นที่ปฏิบัติการ ภายใต้แนวคิด ปตท.สผ. ร่วมสู้วิกฤตไวรัสโควิด–19 โดย ปตท.สผ. ได้ผสานองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการค้นหาพลังงานมาประยุกต์ใช้ในการสร้างนวัตกรรม ในปี 2565 ปตท.สผ. ยังคงร่วมเป็นพลังช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่องในการต่อสู้กับวิกฤตเคียงข้างคนไทยและบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยได้สนับสนุนทั้งนวัตกรรมและงบประมาณ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 155 ล้านบาท ให้แก่ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ปตท.สผ. โดย บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ร่วมกับพันธมิตร พัฒนานวัตกรรมเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ และกล่องทำหัตถการแรงดันลบ มอบให้กับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อนำไปส่งต่อให้กับโรงพยาบาล 87 แห่งทั่วประเทศ พัฒนาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค "เอ็กซ์เตอร์ไลเซอร์" มอบแก่กรมควบคุมโรค และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลปิยะเวทและโรงพยาบาลบางปะกอก พัฒนาชุดอุปกรณ์ระบบตรวจวัดอุณหภูมิตู้เก็บวัคซีนโควิด–19 และควบคุมห่วงโซ่ความเย็น มอบให้แก่กระทรวงสาธารณสุข พัฒนา หุ่นยนต์ "CARA" ผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการรับส่งเวชภัณฑ์ และอาหารในโรงพยาบาล เพื่อลดโอกาสสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อของบุคคลากรทางการแพทย์ สนับสนุนเครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนอัตราการไหลสูง จำนวน 139 เครื่อง ให้แก่ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม และโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ส่งมอบ Home Isolation Kit "กล่องความห่วงใย" จำนวน 36,000 กล่อง ให้แก่ผู้ป่วยในการรักษาตัวที่บ้าน อีกทั้ง ได้ร่วมกับกลุ่ม ปตท. ภายใต้ "โครงการลมหายใจเดียวกัน" จับมือกับภาครัฐและพันธมิตรทางการแพทย์จัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดทุกระดับความรุนแรงแบบครบวงจร และยังสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น สนับสนุนโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในการจัดซื้อรถพยาบาลและเครื่องช่วยหายใจ สนับสนุนจัดซื้อเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ เครื่องให้ความอบอุ่นพร้อมระบบทำหัตถการสำหรับทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤติ ให้แก่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล จัดกิจกรรมพนักงานจิตอาสาร่วมกันบริจาคโลหิต มอบชุด PPE และหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลและประชาชนทั่วไป เป็นต้น

ในด้านการศึกษาวิจัย ปตท.สผ. ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนานวัตกรรมสเปรย์พ่นหน้ากากผ้าเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันฝุ่นและไวรัส แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนการผลิตชุดตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 เบื้องต้น สนับสนุนสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ในการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ประสิทธิภาพสูง สนับสนุน งบประมาณ องค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย ทดลอง โครงการพัฒนาวัคซีน จุฬาฯ–ใบยา ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ ร่วมกับ บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด และมูลนิธิซียูเอนเทอร์ไพร์ส เพื่อให้ประเทศไทยและคนไทยมีวัคซีนต้านโควิดที่มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ สร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งในการป้องกันเชื้อโรค รวมทั้ง ยังเป็นการสะท้อนถึงความสำเร็จและความสามารถของประเทศไทยในการพึ่งพาตนเองได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานในต่างประเทศที่ ปตท.สผ. มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เช่น ศูนย์กักกันในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา Relief and Recovery Fund ในประเทศมาเลเซีย และสำนักผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นต้น

ภายหลังจากที่ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ปตท.สผ. ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการบริจาคตามแผนงาน โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด–19 อย่างเคร่งครัด โดยให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านสิ่งแวดล้อม

เช่น การจัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดและกิจกรรมบริหารจัดการขยะทะเล การบริจาคเครื่องเลเซอร์เพื่อรักษาเต่าทะเล การสนับสนุนกิจกรรมวันทะเลโลก

ด้านการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้

เช่น โครงการการฝึกอาชีพ การฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน และการส่งเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดเล็ก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต

เช่น สนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างอาคารผู้ป่วยในโรงพยาบาลลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร สนับสนุนรถรักษ์สุขภาพแก่โรงพยาบาลในพื้นที่ปฏิบัติการ จัดกิจกรรมตรวจสุขภาพให้ประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ให้ความช่วยเหลือและมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือผ่านกองทัพภาคที่ 3 และการก่อสร้างอาคาร 88 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย และการให้บริการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การจัดกิจกรรมการบริจาคโลหิตให้แก่พนักงานและบริษัทคู่ค้าที่สำนักงานใหญ่และพื้นที่ปฏิบัติการ