

การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ความสำคัญและความมุ่งมั่น
- ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Management) ซึ่งหมายถึง บุคคล หน่วยงานหรือองค์กรที่สามารถสร้างผลกระทบ และ/หรือ ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ รวมถึงผู้มีความสนใจ หรือมีความเกี่ยวข้องต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ
- การระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ชัดเจนจะช่วยให้สามารถกำหนดบทบาท ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน รวมถึงกำหนดรูปแบบการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป้าหมายของบริษัทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายสำคัญ
- เพื่อให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
- เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ปตท.สผ. ได้กำหนดระดับการมีส่วนร่วมไว้ 5 ระดับ ได้แก่ ระดับการรับรู้ ระดับการยอมรับ ระดับการมีส่วนร่วม ระดับการสนับสนุน และระดับการเป็นตัวแทน โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2 ระดับสูงสุด ได้แก่ ระดับการสนับสนุน และ ระดับการเป็นตัวแทน ตามความเหมาะสมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่กลุ่ม
แนวทางการบริหารจัดการ
การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีประสิทธิภาพนับเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสจากการสร้างความสัมพันธ์ตามการบริหารจัดการที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กร ปตท.สผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงกำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับองค์กรและเป้าหมายระดับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขึ้น นอกจากนี้ ยังจัดทำเอกสารแนวทางการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานนำไปวางแผนงานเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย
ปตท.สผ. กำหนดกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
- Trust – สร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจ และความมั่นใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ
- Synergy – บูรณาการเครือข่าย และขยายความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ
- Commitment – สร้างความมุ่งมั่น และยกระดับการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายองค์กร
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้ 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
- ระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องการกับดำเนินงานของบริษัทฯ
- จัดลำดับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดลำดับระดับความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อบริษัทฯ
- สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อจัดทำแผนงานหรือแผนกิจกรรมที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเป้าหมายของบริษัทฯ
- ติดตามและประเมินผล เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้ตรงตามวัตถุประสงค์
เพื่อความชัดเจนในการบริหารจัดการ การติดต่อสื่อสาร การให้ความร่วมมือ ประสานงาน และการสนับสนุนกิจกรรมและการปฏิบัติงานของกันและกันอย่างยั่งยืน ปตท.สผ. ได้แบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกเป็น 8 กลุ่มหลัก ซึ่งประกอบด้วย 1) หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงงานกำกับดูแล 2) คู่ค้า 3) ลูกค้า 4) พนักงานและกรรมการบริษัท 5) ผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงิน 6) พันธมิตรและผู้ร่วมลงทุนทางธุรกิจ 7) ชุมชนและสังคม และ 8) สื่อมวลชน
การบริหารจัดการประเด็นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ ปตท.สผ. เป็นองค์กรที่มั่นคงและยั่งยืน คือ การสร้างและดำรงความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความสามารถในการบริหารจัดการผลกระทบจากการปฏิบัติงานต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปตท.สผ. ได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการประเด็นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Issue and Stakeholder Management System - ISMS) เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสังคมให้เป็นระบบมาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่ปฏิบัติการทั้งในและต่างประเทศ โดย ISMS เป็นระบบเชิงรุกที่ใช้วิเคราะห์ วางแผน วัดผล และติดตามผลกระทบทางสังคม มุ่งเน้นในเรื่องการวิเคราะห์และบรรเทาความเสี่ยงทางด้านสังคม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการปฏิบัติงานของบริษัทฯ
กรอบการดำเนินงานของ ISMS ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน

การกำหนดเนื้อหา

การวิเคราะห์

การปฏิบัติ

การประเมินผลโครงการและสื่อสาร
ปตท.สผ. สนับสนุนให้ทุกพื้นที่ ที่ ปตท.สผ. ดำเนินการ นำระบบการบริหารประเด็นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ISMS) ไปใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงทางด้านสังคมตั้งแต่เริ่มโครงการสำรวจและผลิตไปจนถึงการรื้อถอน และได้นำ ISMS มาใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางด้านสังคมในทุกโครงการที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมดตั้งแต่ปี 2558 โดยกำหนดให้ทุกโครงการทบทวนและทำการประเมินความเสี่ยงทางด้านสังคมผ่านระบบออนไลน์ (ISMS Report Online System) เป็นประจำทุกปี รวมถึงการรายงานความก้าวหน้าและประเมินผลกิจกรรมต่าง ๆ เป็นรายเดือน
กิจกรรมการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
กิจกรรมการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นช่องทางในการสื่อสารสองทาง ซึ่งเป็นโอกาสให้บริษัทฯ ได้รับฟังข้อคิดเห็น ข้อกังวล ความคาดหวัง และได้สื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงในการดำเนินงาน และวิธีการลดผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ จะนำประเด็นต่าง ๆ ที่ได้ไปพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้ดียิ่งขึ้น

การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประเด็นความคาดหวัง
ปตท.สผ. ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม (Stakeholder Inclusiveness) เป็นประจำทุกปี เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นต่อประเด็นด้านการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทฯ ผ่านการสัมภาษณ์และตอบแบบสอบถาม ทั้งนี้ ผลที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นปัจจัยที่สำคัญในกระบวนการประเมินและจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของ ปตท.สผ. เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ในปี 2567 ได้จากเว็บไซต์ ปตท.สผ. หัวข้อกรอบแนวคิดและเป้าหมายระยะยาวด้านความยั่งยืน
ปตท.สผ. ได้กำหนดช่องทางในการมีส่วนร่วม และประเด็นความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละกลุ่ม ดังนี้
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย | ช่องทาง | ความคาดหวัง |
---|---|---|
1. หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล |
|
|
2. คู่ค้า |
|
|
3. ลูกค้า |
|
|
4. พนักงานและกรรมการบริษัท |
|
|
5. ผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงิน |
|
|
6. พันธมิตรและผู้ร่วมลงทุนทางธุรกิจ |
|
|
7. ชุมชนและสังคม |
|
|
8. สื่อมวลชน |
|
|
การบริหารจัดการผลลัพธ์ทางสังคม
ด้วยสำนึกรับผิดชอบในการปฏิบัติงานภายใต้มาตรการความปลอดภัยในระดับสากล และความมุ่งมั่นที่จะเติบโตไปกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ปตท.สผ. ทำการประเมินความเสี่ยง และผลกระทบต่อชุมชนอย่างรอบด้านในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน เพื่อกำหนดมาตรการและแผนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย ลดและขจัดความเสี่ยงและ/หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการปฏิบัติงาน กำหนดแผนการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ มาตรการการป้องกัน/ลดผลกระทบ รวมถึง ระบุช่องทางการสื่อสาร สอบถาม และ/หรือการร้องเรียนที่ชัดเจน พร้อมทั้งรับฟังข้อห่วงกังวลและ/หรือข้อคิดเห็นจากชุมชน เพื่อนำมาปรับปรุงมาตรการและ/หรือแผนในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การรับเรื่องร้องเรียนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ปตท.สผ. ได้จัดเตรียมกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่หลากหลายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นทางการเพื่อรองรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ตามระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนและการให้ความคุ้มครองของกลุ่ม ปตท.สผ. ได้แก่
- 1 ระบบการรับเรื่องร้องเรียน “Whistleblowing System” ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ( https://whistleblower.pttep.com/TH/InternetReportingForm.aspx)
- 2 ช่องทางส่งคำร้องเรียนผ่าน "Contact Us" ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ( https://www.pttep.com/th/ContactUs.aspx)
- 3 เบอร์โทรศัพท์สายตรงที่เบอร์ +66 (0) 2537-4000
- 4 อีเมล: cghotline@pttep.com
- 5 จดหมาย ตามที่อยู่ของบริษัทฯ
นอกเหนือจากช่องทางหลักดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ยังมีกลไกในการรับเรื่องและติดตามข้อร้องเรียนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มชุมชน โดยชุมชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนกับเจ้าหน้าในพื้นที่ปฏิบัติการได้โดยตรง โดยข้อร้องเรียนนั้นจะถูกบันทึกและติดตามผ่านระบบการติดตามประเด็นและข้อร้องเรียน (Grievance and Issue Monitoring System) เพื่อให้แน่ใจว่าข้อร้องเรียนดังกล่าวได้ถูกบริหารจัดการอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังกำหนดให้หน่วยงานบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นหน่วยงานหลักในการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มพนักงาน โดยมีขั้นตอนปฏิบัติที่โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ให้สอดคล้องกับนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคลของ ปตท.สผ.
หลังจากได้รับการแจ้งข้อร้องเรียน ปตท.สผ. จะดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าสำรวจผลกระทบ/ความเสียหาย ประเมินความเสียหาย กำหนดแนวทาง และแผนการจัดการ/บรรเทาความเสียหาย/การจ่ายค่าชดเชย (ถ้ามี) และสื่อสารให้ผู้ร้องเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และยอมรับแนวทางการแก้ไข/บรรเทาปัญหา รวมถึงค่าชดเชยความเสียหาย (ถ้ามี) และดำเนินการแก้ไขผลกระทบและ/หรือความเสียหายนั้น ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแนวทางการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Management Guideline)
การย้ายถิ่น
ในการดำเนินกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบางกรณี อาจมีความจำเป็นที่บริษัทฯ จะต้องเข้าใช้หรือผ่านเข้าพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนบุคคล โดยในหลาย ๆ ครั้งการได้มาซึ่งสิทธิ์ในการใช้พื้นที่เพื่อปฏิบัติงานนั้น อาจทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน อาทิ การย้ายถิ่นที่พักอาศัย และ/หรือแหล่งประกอบสัมมาอาชีพ รวมไปถึงการสูญเสียทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้าง หรือการเข้าถึงทรัพย์ นำมาซึ่งการสูญเสียแหล่งรายได้ของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้
ในการให้ได้มาซึ่งพื้นที่ปฏิบัติการนั้น บริษัทฯ มุ่งหวังที่จะได้รับความร่วมมือด้วยความเต็มใจจากเจ้าของพื้นที่หรือผู้ใช้พื้นที่ร่วมมากกว่าการบังคับใช้ตามกฎหมาย จึงได้พัฒนาคู่มือการลดผลกระทบจากการย้ายถิ่นฐาน (PTTEP Involuntary Resettlement Guideline) ขึ้น โดยมีแนวทางที่จะเปิดเผยสิทธิที่ชุมชนจะได้รับในการโยกย้ายตั้งแต่เริ่มวางแผนโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ ตลอดจนมีการติดตามหลังจากที่กระบวนการเสร็จสิ้น (ดังแสดงในรูปภาพด้านล่าง) เพื่อลดผลกระทบทั้งในเชิงกายภาพและเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการย้ายถิ่นฐานและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จนถึงปัจจุบัน ปตท.สผ. ไม่เคยต้องทำการย้ายถิ่นฐานของชุมชนใด ๆ เพื่อการปฏิบัติงาน
ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าถึงได้จาก Involuntary Resettlement Guideline
การอนุรักษ์วัฒนธรรมและเคารพต่อสิทธิกลุ่มชนพื้นเมือง
ปตท.สผ. เคารพต่อสิทธิ ความเสมอภาคและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในทุกพื้นที่ที่บริษัทฯ เข้าไปปฏิบัติงาน ในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน ปตท.สผ. จะทำการระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการปฏิบัติงาน การดำเนินโครงการ วิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ของชุมชน รวมถึงกลุ่มชนพื้นเมือง เพื่อวางแผนการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ ให้ความสนับสนุน และสร้างการยอมรับให้กับชุมชน ผ่านการกำหนดแผนการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการเป็นภาษาท้องถิ่นที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ มาตรการการป้องกัน/ลดผลกระทบ รวมถึง ระบุช่องทางการสื่อสาร สอบถาม และ/หรือร้องเรียนที่ชัดเจน พร้อมทั้งรับฟังข้อห่วงกังวลและข้อคิดเห็นจากชุมชน เพื่อนำมาปรับปรุงมาตรการและ/หรือแผนในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชน และกลุ่มชนพื้นเมืองให้น้อยที่สุด
ในกรณีที่กลุ่มชนพื้นเมืองได้รับความเดือดร้อนรำคาญ และ/หรือความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติงานของบริษัทฯ กลุ่มชนพื้นเมือง สามารถแจ้งข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ และ/หรือผู้รับเหมาได้โดยตรง หรือ ผ่านตัวแทนซึ่งมีทักษะในการสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่น ตามช่องทางที่บริษัทฯ ได้แจ้งไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการเช่นเดียวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งหลังจากได้รับการแจ้งข้อร้องเรียน ปตท.สผ. จะดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้ระบุไว้ในการจัดการข้อร้องเรียนของบริษัทฯ