ความสำคัญและความมุ่งมั่น

เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานในอนาคต ปตท.สผ.จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการจัดการองค์ความรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้องค์กรมีความพร้อมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

เป้าหมายสำคัญ

1
พัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ขององค์กร 3 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการผลิตปิโตรเลียม การสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ
2
พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนขององค์กรในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเพื่อทุกชีวิต
3
มีระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ และมีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาจากผลงานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องทุกปี
4
เผยแพร่ผลงานการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการประชุมทางวิชาการและวารสารในระดับนานาชาติ และได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมจากผลงานจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในองค์กรอย่างต่อเนื่องทุกปี
5
ส่งเสริมให้องค์กรมีทุนทางปัญญา (ทุนมนุษย์ ทุนทางโครงสร้าง ทุนความสัมพันธ์) และนำความรู้ไปต่อยอดเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ในองค์กร ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม

การพัฒนาเทคโนโลยีของ ปตท.สผ.

ปตท.สผ. ดำเนินการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทในการบรรลุเป้าหมายตามกรอบแนวคิดและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน โดยมีความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น บริษัทในกลุ่ม ปตท. หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย เป็นต้น โดย ปตท.สผ. มีวัตถุประสงค์ 3 ด้านในการพัฒนาเทคโนโลยี ได้แก่

  • 1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายของการดำเนินงานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
  • 2 เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
  • 3 เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ

โดยมีรายละเอียดของการพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง 3 ด้านดังนี้

1
เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายของการดำเนินงานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายการผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวอย่างของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาและนำไปใช้ ดังนี้

1. เทคโนโลยีสำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิต

การปรับปรุงและแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการเพิ่มปริมาณการผลิตและลดต้นทุน ปตท.สผ.จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ได้แก่

  • เทคโนโลยีสำหรับการแยกสิ่งที่ไม่ต้องการออกจากก๊าซธรรมชาติเหลว อาทิ การพัฒนาสารเร่งการแยกอนุภาคในชั้นน้ำที่ปนในชั้นน้ำมัน การพัฒนาวัสดุดูดซับ (Adsorbent) การพัฒนาอุปกรณ์การกรอง (Filter) การปรับปรุงเทคนิคการวัดของเครื่องมือวัดค่าสิ่งปนเปื้อน เป็นต้น
  • การเพิ่มประสิทธิภาพในการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีเมมเบรนสำหรับแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การพัฒนาวัสดุดูดซับจากวัสดุโครงข่ายโลหะ (Metal-Organic Framework Adsorbent) เป็นต้น

2. เทคโนโลยีสำหรับการปรับปรุงการปฏิบัติงาน

การปฏิบัติงานในขั้นตอนการผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลดีทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ปตท.สผ. จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานทั้งในด้านการควบคุมการผลิต การปฏิบัติงานเกี่ยวกับหลุมผลิต การตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต โดยมีโครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ อาทิ โครงการพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้สำหรับการทำงานแทนมนุษย์ในการควบคุมการผลิตและตรวจจับความผิดปกติของอุปกรณ์บนแท่นผลิตปิโตรเลียม และโครงการการเคลือบผิวโลหะด้วยคาร์บอนที่มีคุณลักษณะเหมือนเพชรเพื่อป้องกันอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากการเกิดการกัดกร่อนและสึกกร่อน เป็นต้น

3. เทคโนโลยีสำหรับสนับสนุนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนอกชายฝั่ง

ในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมทั้งในแหล่งผลิตบนฝั่งและนอกชายฝั่งจะประกอบด้วยสิ่งติดตั้งหลายประเภท อาทิเช่น แท่นผลิตปิโตรเลียม ท่อส่งปิโตรเลียม หลุมผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการผลิตแล้ว สิ่งติดตั้งเหล่านี้จะต้องถูกรื้อถอนออกไปจากพื้นที่ในการผลิตปิโตรเลียม ซึ่งการรื้อถอนเป็นขั้นตอนที่มีต้นทุนสูงและมีความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปตท.สผ.จึงได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการรื้อถอนสิ่งติดตั้งดังกล่าว ได้แก่

  • เทคโนโลยีการรื้อถอนท่อส่งปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง โดยได้พัฒนานวัตกรรมสารเคมีสำหรับการล้างสิ่งปนเปื้อน (MERClean) และนวัตกรรมอุปกรณ์เก็บตัวอย่างจากภายในท่อ (MERIns) เพื่อสนับสนุนการรื้อถอนท่อส่งปิโตรเลียมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้ริเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว โดย ปตท.สผ. ยังมีแผนการพัฒนาอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพและความแม่นยำของการเก็บตัวอย่างที่ดียิ่งขึ้น
  • เทคโนโลยีการปิดและสละหลุมผลิตปิโตรเลียม โดยใช้ความร้อนสูงจากการเผาไหม้ของวัสดุเพื่อทำให้เกิดการหลอมละลายของโลหะในการปิดผนึกหลุมผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวัดและติดตามสภาพของสิ่งติดตั้งนอกชายฝั่งหลังการรื้อถอน

ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยในการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความปลอดภัยในการดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

2
เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลายประเภท ทั้งเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) โครงการพัฒนาปล่องเผาทิ้งที่ใช้ค่าความร้อนต่ำในการเผาไหม้ และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนหลังการเผาไหม้ (Post-Combustion) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องจักรในแท่นผลิตปิโตรเลียม นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ โครงการใช้กังหันลมสำหรับผลิตไฟฟ้าในแท่นหลุมผลิต โครงการศึกษาการใช้พลังงานหมุนเวียนชนิดต่าง ๆ สำหรับผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้สำหรับแท่นผลิตนอกชายฝั่ง รวมถึงยังมีเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการชดเชย (Offsetting) อีกด้วย

3
เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานหรือการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. สำหรับด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ปตท.สผ. มีการเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมีการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิตไฮโดรเจน การผลิตพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานจากคลื่นทะเล พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานรูปแบบใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทยังได้จัดตั้งสนามทดลองและทดสอบเทคโนโลยีพลังงานสะอาด หรือ Green Energy Technology Playground ในพื้นที่ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTIC) โดยเป็นสถานที่สำหรับทดสอบอุปกรณ์ต้นแบบและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อต่อยอดไปสู่การนำไปใช้จริง

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนขององค์กรในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเพื่อทุกชีวิต เช่น โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเปลี่ยนทรายให้เป็นวัสดุที่มีมูลค่าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการกำจัดของเสียจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียม โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเซนเซอร์สำหรับวัดค่าไมโครพลาสติกเพื่อช่วยในการตรวจวัดและนำข้อมูลไปใช้ในการแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ เป็นต้น


การบริหารจัดการการพัฒนาเทคโนโลยี

ปตท.สผ. มีหน่วยงานบริหารเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการบริหารจัดการการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทโดยเฉพาะ โดยมีกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นกรอบในการบริหารจัดการการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยกระบวนการดังกล่าวมีการแบ่งการดำเนินงานของโครงการพัฒนาเทคโนโลยีออกเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ การศึกษาเบื้องต้น การทดลองในห้องปฏิบัติการ การพัฒนาต้นแบบ การทดสอบใช้งาน และการนำไปใช้งานจริงหรือการใช้เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับสากลที่มีการแบ่งการพัฒนาออกเป็นขั้นตอนย่อย เรียกว่า Technology Readiness Level (TRL) โดยกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยในการคัดเลือกและอนุมัติโครงการ ตลอดจนให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาเทคโนโลยีจนประสบความสำเร็จและสามารถนำไปใช้งานจริงได้อย่างเป็นระบบ ภายใต้การกำกับดูแลและให้คำแนะนำการบริหารในภาพรวมให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทจากคณะกรรมการพัฒนาเทคโนโลยี (Technology Development Committee)

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีกระบวนการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property Management Process เป็นกรอบในการบริหารจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ และมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ ปตท.สผ. อีกด้วย

ข้อมูลด้านงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จำนวนโครงการที่ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาในแต่ละขั้นตอน การยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา การนำเสนอและตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ และรางวัลด้านนวัตกรรมที่ได้รับ สามารถดูได้จาก ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี


โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ปตท.สผ. ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECi) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ภายในศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทันสมัย อาทิ ห้องทดลองและปฏิบัติการ ห้องผลิตชิ้นงานด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ อาคารทดสอบต้นแบบ (Pilot Area Building) สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ (UAV Test Field) สนามทดลองเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Green Energy Technology Playground) เพื่อศึกษา ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น การผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด และการผลิตพลังงานรููปแบบใหม่ เช่น เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานที่ทันสมัย

โดย PTIC จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและเร่งรัดความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ไปสู่การนำไปใช้งานจริงในอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับ ปตท.สผ. นอกจากนี้ PTIC ยังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ และสร้างเครือข่ายการวิจัยในระดับสากลที่จะช่วยต่อยอดและผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้จัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. หรือ PSRC ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านธรณีวิทยาและส่งเสริมศักยภาพด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยได้รับการพัฒนาจากศูนย์วิจัยตัวอย่างหิน (PTTEP Core Research Center หรือ PCRC) รวมถึงยังมีการจัดตั้งศูนย์เร่งการพัฒนาเทคโนโลยี ปตท.สผ. หรือ RASC ในพื้นที่่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการทดสอบเทคโนโลยีก่อนที่จะนำไปทดสองใช้งานจริง รองรับการทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการผลิตพลังงานสะอาดในอนาคต อีกด้วย


การจัดการองค์ความรู้

ปตท.สผ. มุ่งเน้นการบริหารองค์ความรู้ใน 3 มิติ คือ สร้าง (Create) แลกเปลี่ยน (Share) และ ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ (Apply)

บริษัทส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจในแนวทางและการบริหารองค์ความรู้ให้ถูกต้องและสัมฤทธิ์ผล โดยคาดหวังให้พนักงานนำความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้และนำมาปรับใช้ในการทำงานทุกครั้ง เพื่อลดความผิดพลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแก้ปัญหา ตลอดจนสามารถจัดทำมาตรฐานการทำงานใหม่ ๆ และต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้

บริษัทมีการวางแผน กำหนดมาตรฐาน และตั้งเป้าหมายการบริหารองค์ความรู้ให้ ปตท.สผ. เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมและการเรียนรู้ที่มีสมรรถนะสูงที่มีความสอดคล้องกับการบริหารองค์ความรู้ของบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยมีการประเมินการบริหารองค์ความรู้ที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานในระดับสากลเป็นประจำ เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพการบริหารองค์ความรู้ และสามารถกำหนดมาตรการเพื่อให้การบริหารองค์ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานของพนักงานทั้งองค์กร และมีการนำไปต่อยอดจนเกิดนวัตกรรมได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยบริษัทมีกลยุทธ์ในการบริหารองค์ความรู้ที่เน้นใน 3 ด้านคือ

  • 1 บริหารองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์บริษัทเพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจ รวมถึงนำการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดจนเกิดธุรกิจใหม่
  • 2 ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนวัตกรรม
  • 3 เสริมสร้างให้พนักงานมีศักยภาพและเป็นผู้เชี่ยวชาญจนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ

ปตท.สผ. มีการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกระบวนการบริหารองค์ความรู้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริหารระดับสูงมีการสื่อสารวิสัยทัศน์ในเรื่องการบริหารองค์ความรู้และเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน มีการพัฒนาระบบการบริหารองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐาน มีการเชิญวิทยากรทั้งภายในและภายนอกมาให้ความรู้กับพนักงาน รวมถึงมีการจัดตั้งกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ (Community Of Practice) เพื่อให้พนักงานได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน และนำความรู้ที่ได้ไปจัดเก็บในฐานข้อมูลการบริหารองค์ความรู้ (KM Site) เพื่อเป็นแหล่งในการรวบรวมองค์ความรู้ และ ศึกษาหาความรู้ต่อไป

นอกจากนี้ ปตท.สผ. มีแผนดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านองค์ความรู้ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1
การพัฒนาศักยภาพพนักงาน

บริษัทมีแผนงานในการพัฒนาศักยภาพของพนักงานผ่านการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ Roadshow รวมถึงมีการจัดทำ e-learning เพื่อให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญ และมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการองค์ความรู้มากขึ้น

2
การกำหนดแผนที่องค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต

บริษัทมีการบ่งชี้องค์ความรู้ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อให้มีการบริหารจัดการองค์ความรู้ที่เป็นระบบ มีการจัดเก็บองค์ความรู้ที่ตรงตามความต้องการของบริษัท รวมถึงแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจและรองรับการเติบโตในอนาคต

3
การจัดทำศูนย์รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ

บริษัทมีการระบุผู้เชี่ยวชาญตามองค์ความรู้ที่ระบุไว้และจัดตั้งศูนย์รวบรวมผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นศูนย์กลางให้พนักงานสามารถค้นหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดต่อขอคำปรึกษาและคำแนะนำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

4
กระบวนการจัดเก็บองค์ความรู้จากโครงการต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญและผู้เกษียณอายุ

บริษัทมีการจัดทำ Lessons Learned หลังจบโครงการต่าง ๆ เพื่อถอดบทเรียนในการทำงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติที่เหมือนกันและลดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการจัดเก็บองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญและผู้เกษียณอายุในรูปแบบต่าง ๆ และนำมาจัดเก็บในระบบเพื่อให้พนักงานนำไปใช้ต่อยอดได้

5
ห้องสมุดมนุษย์

โครงการห้องสมุดมนุษย์เป็นหนึ่งในกิจกรรมการจัดการองค์ความรู้ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของ ปตท.สผ. และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บริษัทได้มีการระบุหัวข้อองค์ความรู้ที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ 10 ด้าน และได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญของหัวข้อนั้น ๆ จากผู้บริหารและพนักงานให้เป็นหนังสือมนุษย์เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ อีกทั้งยังแบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานให้กับพนักงานเพื่อเรียนรู้จากความสำเร็จและข้อผิดพลาดของหนังสือมนุษย์ โครงการห้องสมุดมนุษย์ยังช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมให้บริษัทเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และช่วยเพิ่มทักษะและขีดความสามารถของพนักงานอีกด้วย

6
การแบ่งปันความรู้ระดับองค์กร

บริษัทจัดการบรรยายเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการดำเนินงานขององค์กรให้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7
การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

บริษัทพัฒนาระบบในการบริหารจัดการองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสำหรับการค้นหาและแบ่งปันความรู้ต่าง ๆ จากแพลตฟอร์มที่มีอยู่ภายในองค์กร โดยใช้ระบบการค้นหาที่มีประสิทธิภาพ และการนำเอา AI มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกัน รวมถึงสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้การบริหารจัดการองค์ความรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

8
การส่งเสริมวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้รางวัล

บริษัทมีการจัดโครงการเพื่อชื่นชมพนักงานรายบุคคลหรือกลุ่มพนักงานที่มีพฤติกรรมสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทมุ่งเน้นในการบริหารองค์ความรู้ใน 3 มิติ นั่นคือ สร้าง แลกเปลี่ยน และประยุกต์ใช้องค์ความรู้

นอกจากนี้บริษัทยังได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้พนักงานส่งและนำเสนอผลงานทางวิชาการในงาน Technical Forum ครั้งที่ 28 และ Business Forum ครั้งที่ 6 โดยมีจำนวนผลงานที่ส่งทั้งสิ้น 259 ผลงาน และมีการนำเสนอผลงานในงาน KM Week ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี

9
การสื่อสารทั่วทั้งองค์กร

บริษัทมีแผนในการสื่อสารภายในทั่วทั้งองค์กรตลอดปีเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารองค์ความรู้ขององค์กรและให้ความรู้ในเครื่องมือบริหารจัดการองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานสามารถนำเครื่องมือไปใช้ในการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

บริษัทมีกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ภายใต้กฎกติกาสากล ของ American Productivity & Quality Center (APQC) และได้รับผลการประเมินระดับการบริหารจัดการองค์ความรู้เทียบเท่ามาตรฐานสากลในระดับ 5 ในปี 2565 (ระดับสูงสุด) และมีการใช้ผลการประเมินในการพัฒนาการบริหารองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์และพันธกิจให้องค์กรบรรลุเป้าหมายและเติบโตได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้รับรางวัลสุดยอดองค์กรด้านนวัตกรรมและองค์ความรู้ (Southeast Asia Most Innovative Knowledge Enterprise) หรือ SEA MIKE Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในระดับความเป็นเลิศเทียบเท่าสากล (Gold Level) ที่มอบให้แก่องค์กรชั้นนำที่มีการบริหารจัดการนวัตกรรมและองค์ความรู้ยอดเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังได้รับรางวัล Global MIKE Award ในระดับโลก ติดต่อกันมาเป็นเวลาสามปีตั้งแต่ปี 2564 อีกด้วย