

สิทธิมนุษยชน
ความสำคัญและความมุ่งมั่น
ปตท.สผ. มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติต่อพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายโดยให้ความเคารพต่อกฎหมายท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมและหลีกเลี่ยงการมีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้บริษัทได้ผลักดันเจตนารมณ์ดังกล่าวให้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยคาดหวังว่าพนักงาน บริษัทคู่ค้าและผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานในนามของบริษัทจะยึดมั่นในหลักการเดียวกันและให้ความสำคัญในการนำหลักสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างครบถ้วนในทุกด้าน
พันธสัญญาในด้านสิทธิมนุษยชน
ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในทุกพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปดำเนินการ ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ กรอบความรับผิดชอบต่อสังคม และปรัชญาการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งตั้งอยู่บนแนวทางของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ปฏิญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรื่องหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) ที่สำคัญคือ ปตท.สผ. เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมเป็นภาคีของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact – UNGC) ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งต้องรายงานกระบวนการที่ได้นำไปปฏิบัติในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดย UNGC มุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าธุรกิจจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมจากการปฏิบัติตามหลัก 10 ประการของ UNGC ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2555 บริษัทได้เข้าร่วมรายงานความก้าวหน้าการปฏิบัติตามเกณฑ์ทั้ง 10 ประการของ UNGC (Communication on Progress – CoP) ซึ่งหลักการ 1–2 เกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน หลักการ 3–6 เกี่ยวกับแรงงาน และหลักการ 7–10 เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและการต่อต้านการทุจริต โดยในปี 2565 ปตท.สผ. เป็นหนึ่งในกว่า 850 บริษัทจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมใน Early Adopter Programme เพื่อร่วมทดลองและพัฒนาระบบใหม่ของการรายงานความก้าวหน้าการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ UNGC (UNGC Communication on Progress) นอกจากนี้ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของ ปตท.สผ. ยังอ้างอิงตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights – UNGP) หรือ Ruggie Framework และหลักการความสมัครใจด้านความมั่นคงและสิทธิมนุษยชน (Voluntary Principles on Security and Human Rights) รวมถึงความมุ่งมั่นในการเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ กับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) ในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังคาดหวังให้พนักงานของบริษัทปฏิบัติตามนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทและมุ่งมั่นร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจและคู่ค้าในการดำเนินธุรกิจใด ๆ ของบริษัทโดยยึดมั่นในหลักการด้านสิทธิมนุษยชน
การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ
กลุ่ม ปตท.สผ. ยึดมั่นในการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคม ปตท.สผ. มุ่งเน้นให้บุคลากรและสถานประกอบการของบริษัทนำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตลอดจนติดตามผลและปรับปรุงแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ค้าและคู่ค้าทางธุรกิจปฏิบัติเช่นเดียวกัน ซึ่งในด้านห่วงโซ่อุปทานนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานอย่างปลอดภัย ยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปตท.สผ. ได้ดำเนินการสื่อความและให้คู่ค้าและผู้รับเหมาของ ปตท.สผ. ลงนามรับทราบเจตจำนงดังกล่าวของบริษัท ผ่านแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้าของบริษัท โดยบริษัทได้กำหนดกระบวนการประเมินและตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ค้าทั้งก่อนการสรรหาและระหว่างการดำเนินงานตามสัญญา โดยเฉพาะคู่ค้าที่สำคัญ (Critical Supplier) และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของคู่ค้าเป็นไปตามมาตรฐาน สัญญา จรรยาบรรณ การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงอันอาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
แนวทางการบริหารจัดการ
ในการนำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และแสดงให้เห็นถึงการเคารพในสิทธิมนุษยชนและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เชื่อมโยงโดยตรงกับกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท ปตท.สผ. ได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนโดยครอบคลุมกระบวนการสำคัญดังนี้
- 1 การตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน
- 2 การร้องเรียนและการเยียวยา
- 3 การปลูกฝังความรับผิดชอบและสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน
การตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence)
ปตท.สผ. จัดให้กระบวนการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence Process) เป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชน การกำหนดแผนและแนวทางการแก้ไขเพื่อลดความเสี่ยงที่มีระดับปานกลางถึงสูง รวมถึงการเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งในปี 2566 ปตท.สผ. จัดให้มีการทบทวนการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence หรือ HRDD) โดยผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีกำหนดทุก ๆ 3 ปี ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่า ปตท.สผ. มีความมุ่งมั่นในการจัดทำนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) หลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights หรือ UNGPs) แนวปฏิบัติการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ของสมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนานาชาติ (IPIECA) และมาตรฐานสากลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ทำการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินความเสี่ยง (ผลกระทบและความเป็นไปได้ที่จะเกิดประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน) รวมถึงแผนผังประเมินความเสี่ยง ให้สอดคล้องกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันรวมถึงแนวปฏิบัติสากล เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพของกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรมากขึ้น
นอกจากนี้ ระบบการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัท ยังได้ระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการระบุประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนไว้อย่างชัดเจน ครอบคลุมประเด็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับพนักงาน ชุมชน ห่วงโซ่อุปทาน สิ่งแวดล้อม และการรักษาความปลอดภัย และพิจารณาให้ครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มรวมถึงพนักงาน แรงงานที่ว่าจ้างผ่านบุคคลที่สาม และกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ด้อยโอกาส เพศทางเลือก ผู้สูงอายุ เยาวชน ชนกลุ่มน้อย ชนพื้นเมือง และแรงงานข้ามชาติ โดยพิจารณาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและผลกระทบ สอดคล้องกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของ ปตท.สผ. กรอบการบริหารความเสี่ยงของกลุ่ม ปตท. แนวปฏิบัติด้าน Due Diligence ของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UNGC) และ สมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนานาชาติ (IPIECA)
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงในด้านสิทธิมนุษยชนเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2557 ครอบคลุมการดำเนินงานของบริษัท ตลอดวงจรธุรกิจ กิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงธุรกิจใหม่ (เช่น กิจการควบรวม กิจการที่เข้าซื้อ และกิจการที่บริษัทเป็นผู้ร่วมทุน เป็นต้น) เพื่อประเมินและกำหนดแนวทางลดความเสี่ยงในด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของ ปตท.สผ. ในทุกรายการจะถูกระบุในบันทึกความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัทจัดทำขึ้น ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลักทั้งพื้นที่บนบกและนอกชายฝั่งทะเลครอบคลุมทุกระยะการดำเนินโครงการ ได้แก่ การวัดค่าความไหวสะเทือน การขุดเจาะเพื่อสำรวจและประเมินผล การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมและการผลิต การจ้างงาน การบริหารห่วงโซ่อุปทาน การบริหารความปลอดภัย ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงก่อนการเข้าซื้อกิจการหรือร่วมทุน จนกระทั่งการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น
จากการทบทวนประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทในปี 2567 ครอบคลุมร้อยละ 100 ของพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด ที่ดำเนินการโดยบริษัท ผู้ร่วมทุน และคู่ค้าสำคัญระดับที่ 1 พบว่าประเด็นความเสี่ยงสูงซึ่งเป็นความเสี่ยงหลักด้านสิทธิมนุษยชน (Salient Issue) ขององค์กร ยังคงเป็น 2 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) ความปลอดภัยในสถานที่ปฏิบัติงานของพนักงานและผู้รับเหมา และ (2) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนจากการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้มีการติดตามความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ตามแนวทางการบริหารจัดการของบริษัท อาทิ ระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ระบบการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน แนวทางการบริหารประเด็นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงมีการติดตามความเสี่ยงที่อยู่ในระดับกลาง – สูงทั้งหมดเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาซึ่งเป็นประเทศที่มีประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนสูง ทั้งโครงการยาดานาและโครงการซอติก้า อันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหาร เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินงานทางตรงของบริษัท พบว่ามีประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญเกี่ยวข้องกับ (1) ความมั่นคงและปลอดภัยของพนักงานและผู้รับเหมาในพื้นที่ปฏิบัติการในช่วงสถานการณ์รัฐประหาร และ (2) ประเด็นโต้แย้งจากการส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเมียนมาและไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการดังกล่าวเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ การเข้าถึงการใช้พลังงานอย่างเท่าเทียมยังเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกประเทศพึงได้รับอีกด้วย ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงาน และความมั่นคงทางพลังงานของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นหลัก พร้อมจัดให้มีคณะกรรมการประสานงานในสถานที่ปฏิบัติงาน (Workplace Coordination Committee หรือ WCC) เพื่อดูแลประเด็นด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสวัสดิภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พนักงาน และผู้รับเหมา เป็นต้น ทั้งนี้ ปตท.สผ. ปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ตลอดจนกฎหมายท้องถิ่นในการเข้าไปดำเนินการในทุกพื้นที่ ซึ่งรวมถึงสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาด้วย ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังยึดมั่นในการดำเนินโครงการเพื่อสังคมในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีประชาชนชาวเมียนมาได้รับประโยชน์กว่า 200,000 คนต่อปี อีกทั้งยังให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ ข้าวสาร อาหาร และยารักษาโรค ตลอดจนจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบในปัจจุบันจนต้องอพยพลี้ภัยมาในพื้นที่ปลอดภัย และยังช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศผ่านการมอบถุงยังชีพและบริจาคเงินช่วยเหลืออีกด้วย
สำหรับกรณีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างบริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย (แอชมอร์ คาร์เทียร์) พีทีวาย จำกัด บริษัทย่อยของ ปตท.สผ. และกลุ่มผู้เลี้ยงสาหร่ายในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) ซึ่งเรียกร้องการชดเชยความเสียหายต่อแปลงสาหร่ายจากเหตุการณ์มอนทาราที่เกิดขึ้นในน่านน้ำออสเตรเลียเมื่อปี 2552 ตามคำสั่งศาลสหพันธรัฐ ประเทศออสเตรเลีย และขั้นตอนปกติตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลียในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ศาลสหพันธรัฐ ประเทศออสเตรเลีย ได้อนุมัติข้อตกลงในหลักการ (In-principle Agreement) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 โดยข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ถือเป็นการยอมรับความรับผิด และถือเป็นการยุติข้อพิพาทในคดีแบบกลุ่มโดยสมบูรณ์ รวมถึงการอุทธรณ์ของ PTTEP AAA ด้วย ปัจจุบัน บริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเชีย ได้ชำระเงินตามข้อตกลงดังกล่าว และอยู่ระหว่างกระบวนการจัดสรรเงินดังกล่าวให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงสาหร่ายโดยพนักงานคดีแบบกลุ่มที่ศาลได้แต่งตั้งขึ้น โดยเป็นไปตามแนวทางการกำกับดูแลของศาล
นอกจากนี้ บริษัทยังคงติดตามผลการดำเนินงานในโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน (โครงการร่วมทุนที่ ปตท.สผ. ถือหุ้นร้อยละ 8.5) โดยเฉพาะการดำเนินการย้ายชุมชนสู่แหล่งที่พักใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าการบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปตท.สผ. และผู้ร่วมทุนอื่นในโครงการได้ร่วมกันพัฒนาโครงการย้ายชุมชน (Resettlement Program) กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนมาตรการการดำเนินงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายให้เกิดความเสมอภาคและเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนน้อยที่สุด โครงการพัฒนาชุมชนที่ออกแบบร่วมกันนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูให้ชุมชนที่ย้ายสู่พื้นที่ใหม่ได้ปรับตัว แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองโดยผ่านการส่งเสริมทางด้านการเกษตร จำหน่ายอาหาร ขนส่ง และระบบน้ำชุมชน เป็นต้น ในปี 2563 การก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับการย้ายชุมชนระยะที่ 2 ได้เสร็จสิ้นตามกำหนดการและได้เริ่มขั้นตอนการการย้ายชุมชนเข้าที่พักอาศัยใหม่แล้ว แต่จากนั้นก็ต้องหยุดไปเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมื่อต้นปี 2564 ซึ่งโครงการได้ให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลประเทศโมซัมบิกในการให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมต่าง ๆ ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และได้ยุติการสนับสนุนค่าตอบแทนแก่กองกำลังติดอาวุธทั้งหมด โดยคงไว้เพียงการสนับสนุนด้านการขนส่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการกลับคืนสู่ถิ่นฐานของประชาชนภายหลังสถานการณ์ความไม่สงบ อีกทั้งโครงการยังมุ่งมั่นต่อหลักการความมั่นคงและสิทธิมนุษยชนโดยสมัครใจ (Voluntary Principles on Security and Human Rights: VPSHR) ผ่านการจัดฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างให้กองกำลังความมั่นคงยึดถือแนวปฏิบัติที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน ตลอดจนคงแนวทางการบริหารจัดการด้านความมั่นคงให้มุ่งเน้นเพียงภายในพื้นที่โครงการ นอกจากนั้น โครงการยังได้ประเมินสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมเพื่อตรวจสอบผลการดำเนินการของโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน เมื่อปี 2566 และได้กำหนดแผนปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิทธิมนุษยชนในบริเวณพื้นที่โครงการ มีการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินและการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบผ่านองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) ปตท.สผ. ในฐานะบริษัทผู้ร่วมทุนจะติดตามการดำเนินการของแผนปฏิบัติการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุตามแผนที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้จัดทำข้อมูลจากการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนจำแนกตามพื้นที่ปฏิบัติการที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการ และพื้นที่ปฏิบัติการที่บริษัทเป็นผู้ร่วมทุน รวมถึงแนวทางการแก้ไขเพื่อลดความเสี่ยงและการเยียวยา ดังแสดงในข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานกรอบการประเมินความเสี่ยงของกลุ่ม ปตท. สามารถเข้าถึงได้จาก เว็บไซต์ของ ปตท. หัวข้อการบริหารจัดการสิทธิมนุษยชน
การร้องเรียนและการเยียวยา
ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับกระบวนการในการปกป้องและเยียวยาผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินงาน โดยกำหนด ระเบียบรับเรื่องร้องเรียนรวมถึงการให้ความคุ้มครอง และความเป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียนโดยจัดเตรียมช่องทางการสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังมีแนวปฏิบัติในการเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่บุคคล ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องร้องเรียน เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินการเยียวยา ชดเชย หรือบรรเทาความเสียหาย ทั้งในรูปแบบการชดเชย (ทางการเงินและอื่น ๆ ) การให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่สูญเสียไประหว่างการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกลับคืน หรือในรูปแบบอื่น ๆ ที่กำหนดไว้และเป็นไปตามแนวปฏิบัติเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องร้องเรียน
การปลูกฝังความรับผิดชอบและสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน
ปตท.สผ. ให้ความสำคัญในด้านการปลูกฝังจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน โดยเน้นย้ำการสื่อความและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการกับพนักงานในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ และหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้พนักงานเข้าใจการระบุประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างถูกต้องและนำไปสู่การบริหารจัดการอย่างเหมาะสม โดยบริษัทฯ จัดให้มีการอบรมออนไลน์ด้านสิทธิมนุษยชนครอบคลุมพนักงานทั่วทั้งองค์กร เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนของ ปตท.สผ. รวมถึงความรู้พื้นฐาน ความคาดหวังทางธุรกิจ และการตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับพนักงาน ความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ห่วงโซ่อุปทาน และชุมชน ครอบคลุมทั้งในเรื่องแรงงานและสภาพการทำงานที่เป็นธรรม สถานที่ทำงานที่ปลอดภัย การเจรจาต่อรองร่วมกัน การเลือกปฏิบัติและการล่วงละเมิด การบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งในปี 2566 ปตท.สผ. จัดให้มีการอบรมออนไลน์ด้านสิทธิมนุษยชนระดับ Intermediate เพิ่มเติม โดยมีพนักงานเข้าร่วมคิดเป็นจำนวนชั่วโมงรวมกว่า 150 ชั่วโมง นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการคุกคาม (Harassment) และความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity) ผ่านการสื่อสารโดยวิทยากรจากภายนอกในรูปแบบออนไลน์ให้กับพนักงานทั่วทั้งองค์กรอีกด้วย
นอกเหนือจากการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนข้างต้นแล้ว ปตท.สผ. ยังร่วมให้ข้อมูลป้อนกลับกับภาครัฐเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (National Action Plan on Business and Human Rights – NAP) และแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการชาติ และเข้าร่วมอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีในเวทีเสวนาต่าง ๆ ซึ่งจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กรดังกล่าวส่งผลให้ ปตท.สผ. เป็นบริษัทแรกในกลุ่มองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประเภทดีเด่น ระดับ Gold ประจำปี 2567 จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรที่ได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ในระดับดีเด่น ติดต่อกัน 5 ปี และถือเป็นรางวัลสูงสุดในปี 2567 อีกด้วย