

การกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ
ความสำคัญและพันธกิจ
ปตท.สผ. เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนจะทำให้สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็น Energy Partner of Choice ของบริษัทฯ มีการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบและสามารถรับมือต่อความท้าทายต่าง ๆ เพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ด้วยความเชื่อมั่นนี้ ปตท.สผ. จึงได้วางกรอบแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นเพื่อเป็นวิถีการทำงานร่วมกันในองค์กรและเป็นรากฐานการพัฒนาที่แข็งแกร่งให้แก่องค์กรในระยะยาว โดยมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
- การมุ่งพัฒนาสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ (High Performance Organization – HPO)
- การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management, and Compliance – GRC)
- การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Value Creation – SVC)
เป้าหมายสำคัญ
ปตท.สผ. มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนให้กับองค์กร โดยยึดมั่นในการบริหารจัดการธุรกิจ ตามหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเหมาะสม ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยได้กำหนดเป้าหมาย (Target) ด้าน GRC ไว้ ดังนี้
สร้างการปฏิบัติที่เข้มแข็งจากภายในองค์กร โดยมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรที่ปลอดการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และมีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน
สามารถระบุความเสี่ยงที่สำคัญ เพื่อกำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงล่วงหน้าก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาได้อย่างครบถ้วนเหมาะสม
มีการปรับปรุงมาตรการการควบคุมภายในตามที่ได้รับการประเมินอย่างครบถ้วน
ยกระดับ GRC Maturity Level ให้เป็นระดับ 4+
แนวทางการบริหารจัดการ
ปตท.สผ. ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอย่างเหมาะสม ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือ GRC
การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
ปตท.สผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการระบบการบริหารจัดการการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และ การกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Governance, Risk Management and Compliance – GRC) เพื่อให้มั่นใจว่าการกำกับดูแลองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ในกรอบของกฎระเบียบและจริยธรรมที่ดี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรภายในตั้งแต่ระดับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายและช่วยขับเคลื่อนให้สามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างยั่งยืน
ปตท.สผ. ได้ส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลยุทธ์การดำเนินงานระยะยาว 2 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ กลยุทธ์การกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ (Smart Assurance) ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานด้าน GRC ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ และขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ และกลยุทธ์การสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติงานตามหลัก GRC (Mindful GRC) ซึ่งมุ่งเน้นให้บุคลากรของ ปตท.สผ. ตระหนัก เข้าใจ และยอมรับที่จะนำแนวทางการดำเนินการตามหลัก GRC ไปปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานประจำวันและการตัดสินใจที่สำคัญ
เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทฯ กำหนดเป็นภาคบังคับให้ผู้บริหารและพนังานทุกคนเข้าเรียนและผ่านการทดสอบหลักสูตร GRC 101 ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริธรรมธุรกิจ (Good Corporate Governance and Business Ethics – CG&BE) การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) การควบคุมภายใน (Internal Control) และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance) เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรของ ปตท.สผ. มีความเข้าใจและความตระหนักรู้เกี่ยวกับหลักการ GRC ในทุกด้าน โดยส่วน CG&BE มีการนำเสนอหลักการ ตัวอย่างแนวปฏิบัติ รวมถึงตัวอย่างคำถามและคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมทางธุรกิจ รวมทั้งการแสดงถึงตัวอย่างของผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์กรณีเกิดความเพิกเฉยในหลักการดังกล่าว นอกจากนี้ ปตท.สผ. พร้อมที่จะขยายผลโดยเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีด้าน GRC ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจของ ปตท.สผ. และองค์กรอื่น ๆ ที่สนใจ
ปตท.สผ. ยังจัดให้หน่วยงานกลางซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานบรรษัทภิบาล หน่วยงานบริหารความเสี่ยง หน่วยงานควบคุมภายใน และหน่วยงานการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนแผนงาน รวมถึงส่งเสริม GRC ทั่วทั้งองค์กร ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้กำหนดกรอบการดำเนินงานด้านการกำกับดูแล (Governance Framework) ให้เป็นไปตามหลักการโมเดลสามด่าน (Three Lines Model) ซึ่งประกอบด้วย
หลักการโมเดลสามด่าน
หน่วยงานที่มีบทบาทในด่านที่หนึ่ง (First Line Roles)
หน่วยงานที่มีบทบาทในด่านที่สอง (Second Line Roles)
หน่วยงานที่มีบทบาทในด่านที่สาม (Third Line Roles)
หน่วยงานตรวจสอบภายในของ ปตท.สผ. ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการต่าง ๆ ตามแผนงานตรวจสอบประจำปี โดยขอบเขตการตรวจสอบครอบคลุมการสอบทานประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการควบคุมภายใน กระบวนการบริหารความเสี่ยง และกระบวนการกำกับดูแลที่ดีในแต่ละกระบวนการ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระจากภายนอกทำการประเมินผลการดำเนินงานด้าน GRC อย่างสม่ำเสมอ เช่น การประเมินระดับวุฒิภาวะด้าน GRC (GRC Maturity Assessment) และการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงยังจัดให้มีการประเมินการควบคุมภายในตามแนวทางของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) และการตรวจประเมินโดยผู้รับผิดชอบระดับที่สามหรือหน่วยงานตรวจสอบตามระดับความเสี่ยงในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทฯ ไม่พบรายการกิจกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ.
จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ
ปตท.สผ. ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี โดยกำหนดให้คณะกรรมการและผู้บริหารต้องเป็นผู้นำและเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติ แนะนำ สื่อสาร และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจของกลุ่ม ปตท.สผ. ให้แก่พนักงานรวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ เช่น ข้อบังคับบริษัท การกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจของกลุ่ม ปตท.สผ. คณะกรรมการบริษัท ระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนและการให้ความคุ้มครอง รายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดี และผลการจัดอันดับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทฯ ภายใต้หัวข้อ การกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมทางธุรกิจ รวมถึงสามารถติดต่อและส่งความคิดเห็นผ่านทางอีเมลของกรรมการอิสระ ได้ที่ IndependentDirector@pttep.com หรือติดต่อเลขานุการบริษัทผ่านทางอีเมล CorporateSecretary@pttep.com .
การป้องกันการคอร์รัปชัน
ปตท.สผ. ระบุนโยบายต่อต้านการทุจริตไว้ในการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ โดยใจความสำคัญคือ กลุ่ม ปตท.สผ. ต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบและไม่มีข้อยกเว้น รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันในแต่ละพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการคอร์รัปชันปรากฏในรายงานประจำปี หัวข้อการกำกับดูแลกิจการและเว็บไซต์บริษัทภายใต้หัวข้อ การกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมทางธุรกิจ (ส่วนที่ 3 จริยธรรมธุรกิจของกลุ่ม ปตท.สผ. 7. การต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน)
การรับเรื่องร้องเรียนของกลุ่ม ปตท.สผ.
ปตท.สผ. กำหนดให้มีระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนและการให้ความคุ้มครอง เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยผู้ร้องเรียนทั้งที่เป็นพนักงานหรือบุคคลภายนอกที่พบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านการส่งจดหมายหรืออีเมลถึงกรรมการ ผู้บังคับบัญชา หน่วยงานบรรษัทภิบาล สายงานเลขานุการบริษัทและกำกับดูแล หรือผ่านระบบการรับเรื่องร้องเรียนในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ทั้งนี้ หน่วยงานบรรษัทภิบาล สายงานเลขานุการบริษัทและกำกับดูแล จะเป็นหน่วยงานกลางในการรับเรื่องร้องเรียนของกลุ่ม ปตท.สผ. และจัดการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนและการให้ความคุ้มครองของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น

- คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องร้องเรียน พิจารณากลั่นกรองความชัดแจ้งเพียงพอของพยานหลักฐานในเบื้องต้น และพิจารณากำหนดผู้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ภายใน 7 วันทำการ
- ขั้นตอนการตรวจสอบและสรุปผลเรื่องร้องเรียน ต้องดำเนินการภายใน 30 วันทำการ หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาต้องได้รับการอนุมัติจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เท่านั้น (ขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 7 วันทำการสำหรับกรณีที่ไม่ซับซ้อน และไม่เกิน 30 วันทำการสำหรับกรณีเรื่องที่ซับซ้อน) โดยผู้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทุกคนต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องร้องเรียนนั้น ๆ และต้องจัดทำรายงานและสรุปผลเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องที่ได้รับผ่านช่องทางที่กำหนดตามระเบียบข้างต้น เพื่อนำส่งต่อคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน และ/หรือ คณะกรรมการตรวจสอบ (แล้วแต่กรณี) รวมทั้งรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทตามลำดับ
ปตท.สผ. ยังได้กำหนดให้มีการให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมแก่ผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน หรือการกระทำใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน จะถูกเก็บรักษาเป็นความลับ หากมีการฝ่าฝืนหรือมีการกระทำผิดตามระเบียบฯ ปตท.สผ. จะดำเนินการลงโทษทางวินัย และ/หรือ ดำเนินการทางกฎหมาย แล้วแต่กรณี
ในปี 2567 บริษัทฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางตามระเบียบการรับเรื่องร้องเรียนฯ และนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคล รวมจำนวน 46 เรื่อง เมื่อพิจารณาความเพียงพอและความชัดเจนของพยานหลักฐานแล้ว รับดำเนินการสอบสวนจำนวน 18 เรื่อง ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 17 เรื่อง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง 1 เรื่อง (ดำเนินการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ปี 2568)
เรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 17 เรื่อง มี 1 เรื่องที่ไม่พบการกระทำที่เป็นความผิด และมี 16 เรื่องพบว่าเป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับ (1) ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (2) ความถูกต้องและคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ และ (3) การทรัพยากรบุคคล ตามระเบียบการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจ (CG&BE) และนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคล ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้ดำเนินการลงโทษการกระทำผิดด้วยการตักเตือนด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษร และการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
ทั้งนี้ หน่วยงานบรรษัทภิบาลได้แจ้งผลสรุปของเรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการแล้วเสร็จแก่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียน คณะกรรมการตรวจสอบ หรือคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน (แล้วแต่กรณี) และคณะกรรมการบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับจำนวนเรื่องร้องเรียนเปรียบเทียบแบบรายปี มีการรวบรวมไว้ใน ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์