ความสำคัญและพันธกิจ

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ เพื่อลดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม (ที่ครอบคลุมทั้งประเด็นด้านการรั่วไหล ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านของเสีย ด้านมลพิษทางอากาศ และด้านทรัพยากรน้ำ) และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการปลูกฝังค่านิยมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรับผิดชอบ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ และการจัดการอย่างยั่งยืน

เป้าหมายสำคัญ

  • 1 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครอบคลุม Scope 1 และ Scope 2 ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ
  • 2 ปราศจากการหกรั่วไหล
  • 3 ไม่กำจัดของเสียโดยวิธีฝังกลบ ภายในปี 2573
  • 4 ไม่ปล่อยน้ำจากกระบวนการผลิตออกสู่สิ่งแวดล้อม
  • 5 ไม่ดำเนินงานในพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนน้ำ และบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนผู้ใช้น้ำ
  • 6 ไม่ดำเนินงานในพื้นที่มรดกโลกตามเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO)
  • 7 ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียสุทธิต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (No-Net Loss) ในพื้นที่คุ้มครองประเภท 1-4 ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature – IUCN) ภายในปี 2587
  • 8 สร้างมูลค่าเชิงบวก (Net Positive Impact) ต่อความหลากหลายทางชีวภาพและบริการทางระบบนิเวศทางทะเล (Ocean Biodiversity & Ecosystem Services (BES) Value) ในพื้นที่ปฏิบัติการนอกชายฝั่งทั้งหมดภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับมูลค่าในปีฐาน 2562
  • 9 ไม่ตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่าสำหรับโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติตามนโยบายด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SSHE) และนโยบายด้านความยั่งยืน ซึ่งได้ผนวกรวมความมุ่งมั่นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำหนดให้บุคลากรของบริษัท ผู้ร่วมทุน และผู้รับเหมาที่ทำงานในนามของบริษัท ต้องปฏิบัติตามนโยบายนี้

บริษัทมีระบบบริหารการจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SSHE Management System) ที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล ISO 14001 โดยที่โครงการที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการได้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ISO 14001 เพื่อให้ได้การรับรอง (Certification) หรือได้รับการประเมินการปฏิบัติงาน (Attestation/Formal Statement) ตามมาตรฐาน ซึ่งในปี 2566 พื้นที่ปฏิบัติการในระยะผลิตทั้งหมดในประเทศไทย (ยกเว้นโครงการ G1/61) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศมาเลเซีย ได้รับการรับรองมาตรฐานฉบับปรับปรุงล่าสุด ISO 14001:2015 จาก SOCOTEC ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการรับรองจาก United Kingdom Accreditation Service โดยระบบการบริหารจัดการด้าน SSHE ของบริษัท ครอบคลุมทุกกิจกรรมในระยะสำรวจ ผลิต และรื้อถอน รวมถึงกิจกรรมสนับสนุน เช่น การขนส่งผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการของเสีย และการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานด้านการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition – M&A) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทจึงได้มีการกำหนดมาตรฐานในการควบคุมดูแลการปฏิบัติตามระบบการบริหารจัดการด้าน SSHE ซึ่งรวมถึงการกำหนดรายละเอียดในการประเมินผลการดำเนินงานด้าน SSHE ในขั้นตอนก่อน ระหว่าง และหลังควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (SSHE Due Diligence) เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ร่วมทุนจะปฏิบัติตามข้อกำหนดของบริษัทอย่างครบถ้วน

บริษัทได้ประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละโครงการตามข้อกำหนดของกฎหมาย มาตรฐานของบริษัท และ/ หรือ มาตรฐานสากล โดยการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบ่งชี้ประเด็นปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงบริษัทได้มีการจัดทำมาตรการติดตามตรวจสอบและลดผลกระทบ ตลอดระยะเวลาการดำเนินการของโครงการต่าง ๆ และบริษัทได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ซึ่งรวมถึงการประเมินสิ่งแวดล้อมด้านสังคมและสุขภาพ) สำหรับทุก ๆ โครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและโครงการรื้อถอน สำหรับโครงการรื้อถอนนั้น บริษัทได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของภาครัฐและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงในหลายมิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เทคนิคและวิศวกรรม ชุมชนและสังคม รวมทั้ง การเงินและการลงทุน

การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จ ซึ่งต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถดำเนินการตามกระบวนการของบริษัท หรือผ่านกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ทุกโครงการที่จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะมีการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อรวบรวมข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดจากการดำเนินโครงการ ที่ได้รับจากการสำรวจความคิดเห็น พร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการป้องกัน บรรเทา และจัดการผลกระทบในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดเป็นมาตรการที่เหมาะสมในทางปฏิบัติ บริษัทได้นำเสนอรายงานสรุปการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกรณีศึกษาต่าง ๆ ไว้ในเอกสารที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น บริษัทยังมุ่งมั่นที่จะให้มีการรายงานผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมที่ดำเนินงานโดยบริษัท และมีการรายงานผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมและครบถ้วนทั้งหมด โดยสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานของ Global Reporting Initiative (GRI Standards) และยึดหลักการรายงานความยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (Sustainability Reporting Guideline on Oil and Gas Sector Disclosure – OGSD) ในระดับครบถ้วนตามดัชนีชี้วัดหลัก รวมถึงกรอบการรายงานความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ของสมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนานาชาติ (IPIECA) โดยใช้ระบบการรายงานผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance System - EPS) ผ่านเว็บไซต์ ซึ่งครอบคลุมดัชนีชี้วัดคือ การใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางอากาศ การใช้น้ำ การปล่อยน้ำทิ้ง การหกรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำจากกระบวนการผลิต การบริหารจัดการของเสีย ปริมาณไฮโดรคาร์บอนที่ผลิตได้ และค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การรายงานผ่านเว็บไซต์จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของบริษัท

เพื่อเป็นการปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง บริษัทได้ทบทวนและปรับปรุงวิธีการรวบรวมข้อมูลและฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำหนดให้มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะบนเว็บไซต์ของบริษัทอย่างต่อเนื่องที่ ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของบริษัทกับสมาคมผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซนานาชาติ (International Association of Oil and Gas Producer - IOGP) ดัชนีความยั่งยืนของ S&P Global และ CDP ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงด้านน้ำ และรวมถึงองค์กรอื่น ๆ อีกด้วย

นอกจากการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ปฏิบัติการ บริษัทยังส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างรู้คุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่สำนักงานใหญ่และต่างจังหวัด โดยได้นำหลักการของสำนักงานสีเขียว (Green Office) ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมการลดการใช้พลังงาน ทรัพยากร ของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานในองค์กรได้เป็นอย่างดี

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
เอกสาร
รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตปิโตรเลียมแหล่งหนองอ้อ และวัดแตน แปลงเอส 1
เอกสาร
รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเจาะสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G2/61
เอกสาร
รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเจาะสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61
เอกสาร
รายงานการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน โครงการบงกช แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข 15 16 และ 17
เอกสาร
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แหล่งอาทิตย์ ระยะที่ 2 แปลง 14A 15A และ 16A บริเวณอ่าวไทย
เอกสาร
รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตปิโตรเลียมในทะเล ระยะที่ 2 ของแหล่งบงกชใต้บริเวณอ่าวไทย
เอกสาร
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตปิโตรเลียมแหล่งประดู่เฒ่า สามพญา และวัดแม่ แปลงเอส 1 จังหวัดพิษณุโลก และสุโขทัย
เอกสาร
EIA for M9 West Appraisal and Exploration Drilling in Offshore Block M9
เอกสาร