โครงการพัฒนานักกีฬาเรือใบมุ่งสู่โอลิมปิก

กีฬาเรือใบ จากทะเลไทยสู่โอลิมปิก

กีฬาเรือใบเป็นกีฬาที่อาศัยทั้งพละกำลังและสติปัญญา ผู้เล่นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่รอดท่ามกลางภูมิอากาศที่เราไม่อาจควบคุมได้ เช่นเดียวกับเรือใบที่เล่นไม่ได้หากขาดลม การพัฒนากีฬาเรือใบให้ก้าวไปข้างหน้า จะเป็นไปไม่ได้หากขาดเงินทุนสนับสนุน การปลุกปั้นกีฬาเรือใบทีมชาติให้ประสบความสำเร็จ ต้องใช้งบประมาณสูง

ถึงแม้ว่ากีฬาเรือใบจะได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปน้อยกว่ากีฬาประเภทอื่น ๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ การแข่งขันใช้เวลาหลายวันกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะ สนามแข่งอยู่กลางทะเลทำให้ยากจะติดตามการแข่งขันได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงไม่บ่อยนักที่ผู้ชมจะมีโอกาสเชียร์เรือใบสองลำตีคู่เบียดเข้าเส้นชัยอย่างสูสีสนุกสนาน แต่ ปตท.สผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของกีฬาเรือใบในฐานะเป็นกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเป็นตัวแทนนักกีฬาทีมชาติไทยลงแข่งขันในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2510 จึงได้ให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนาวงการกีฬาเรือใบมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2549 อาทิ สนับสนุนการซ่อมแซมเรือใบพระที่นั่ง ประกอบด้วยเรือใบพระที่นั่งมดจำนวนสามลำ เรือใบพระที่นั่งวชิรเภตรา เรือใบพระที่นั่งปลาดุก CATFISH เรือใบพระที่นั่งทอร์นาโด SALATAN ตลอดจนสนับสนุนการซ่อมและสร้างเรือใบมดจำนวน 44 ลำ และ 37 ลำ ตามลำดับอีกด้วย

ปตท.สผ. ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่สมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมานักกีฬาเรือใบสามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันระดับโลก ดังเช่นในปี 2558 นักกีฬาเรือใบคว้าเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ทั้งชายและหญิง ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ประเทศเกาหลีใต้ รวมทั้งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งล่าสุดปี 2559 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล นักกีฬาไทยสามารถผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมแข่งขันมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากโอลิมปิกครั้งก่อนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จาก 1 คนเป็น 2 คน และนับเป็นครั้งแรกที่นักแล่นใบของไทยได้เข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกพร้อมกันทั้งชายหญิง

ปตท.สผ. ให้การสนับสนุน กีฬาเรือใบอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปี 2016 นับเป็นครั้งแรกที่มีนักกีฬาชาวไทยผ่านควอลิฟายด์ เข้าแข่งขันถึง 2 คน คือ กีรติ บัวลง (ซ้าย) และ กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม (ขวา)

ปี 2561 ปตท.สผ. ได้ลงนามร่วมกับสมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ ตามกรอบบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนานักกีฬาเรือใบ ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักกีฬาเรือใบของไทยให้สามารถเข้าร่วมแข่งขันรายการซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ได้มากขึ้น และเพื่อดึงเยาวชนไทยให้เข้าสู่วงการกีฬาเรือใบและส่งเสริมให้กีฬาเรือใบเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ยังได้สนับสนุนการจัดอบรมกีฬาเรือใบให้กับเยาวชนจำนวนอย่างน้อย 100 คนในแต่ละปีอีกด้วย

โดยในปี 2561 นักกีฬาเรือใบไทยสร้างผลงานรวม 2 เหรียญทองแดงในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ปี 2562 สร้างผลงานรวม 5 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง ในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 30

ต่อมาในปี 2566 ปตท.สผ. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนานักกีฬาเรือใบ ร่วมกับสมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ อีกเป็นระยะเวลา 3 ปี (ปี 2567 -2569) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้เดิม

จนถึงปัจจุบันโครงการพัฒนานักกีฬาเรือใบมุ่งสู่โอลิมปิกได้พัฒนานักกีฬาเรือใบสัญชาติไทยแล้วไม่น้อยกว่า 1,500 คน โดยในปี 2566 ได้สนับสนุนให้นักกีฬาเรือใบได้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ ได้รับรางวัลจำนวน 10 รางวัล สร้างผลงานชนะเลิศในรายการสำคัญ อาทิ ILCA Youth World Sailing Championship ณ ประเทศกรีซ Optimist Asian & Ocean Championship ณ สหรัฐอา หรับเอมิเรตส์ และเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน

เส้นทางที่โลดแล่นมาไกลตั้งแต่วันแรกที่นักกีฬาเรือใบทีมชาติไทยได้ลากเรือใบลงน้ำตั้งใบขึ้น และกางผ้าออกต้านลม สู้แดด ลม ฝน เกลียวคลื่น ทั้งหมดนี้ เพื่อลอยลำไปสู่มหกรรมกีฬาโอลิมปิก