โครงการเพื่อสังคม
โครงการฟื้นฟูป่าเพื่อการเรียนรู้เชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์
ห้องเรียนธรรมชาติ...เก็บธรรมชาติไว้ก่อนสูญหาย
คุ้งบางกะเจ้า อยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากปากแม่น้ำติดอ่าวไทยเพียง 20 กิโลเมตร ได้รับอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง สภาพน้ำเค็มจากทะเล มีสภาพภูมิศาสตร์เฉพาะของท้องถิ่น มีพรรณไม้และสัตว์ดั้งเดิมในธรรมชาติที่มีความหลากหลาย
คุ้งบางกะเจ้า ดูเหมือนเกาะสีเขียวรูปทรงคล้ายกระเพาะหมู ที่โอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา และป่าคอนกรีต
พื้นที่สีเขียว 11,000 ไร่ของคุ้งบางกะเจ้าแห่งนี้ดำรงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำหน้าที่เป็นปอดผลิตออกซิเจนให้คนเมืองหลวงกว่า 7 ล้านคนได้สูดอากาศบริสุทธิ์ที่มีคุณภาพจากลมที่พัดพามาตามฤดูกาล จนได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time ในปี 2549 ว่าเป็น The Best Urban Oasis of Asia
หลายปีที่ผ่านมา ปอดธรรมชาติกำลังเสื่อมสภาพจากกระแสความเปลี่ยนแปลง
เดินตามรอยพระราชดำริ
ช่วงปี 2525-2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประทับเฮลิคอปเตอร์ผ่านพื้นที่นี้เป็นประจำ มีพระราชดำริว่าควรสงวนพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและคงความเป็นปอดของคนเมืองไว้
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดซื้อสวนรกร้างในคุ้งบางกระเจ้า 1,276 ไร่นำมาฟื้นฟู โดยในปี 2546 ได้กันพื้นที่จำนวน 148 ไร่สร้างเป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ และได้รับพระราชทานชื่อว่า "สวนศรีนครเขื่อนขันธ์" ซึ่งมาจากชื่อเมืองโบราณในอดีต ปัจจุบันดูแลโดยสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้
ปี 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมสวนและชุมชนในคุ้งบางกะเจ้า มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า "ให้ช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเอาไว้ อย่าให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมจนเกินกว่ากฎหมายกำหนด ควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเกษตรและป่าผสมผสาน การซ่อมแซมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันวางแผนให้เอื้อประโยชน์เท่าที่จำเป็นต่อการท่องเที่ยว และการศึกษาของเยาวชนคล้ายห้องเรียนธรรมชาติ"
ปี 2556 ปตท.สผ. ซึ่งให้ความใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและดำเนินโครงการที่รับผิดชอบต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องได้เริ่มประสานงานกับมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูป่าเพื่อการเรียนรู้เชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ โดยมีแผนการดำเนินงาน 13 ปี (2556-2568) ประกอบด้วยการออกแบบปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จัดทำป้ายสื่อความหมาย และนิทรรศการต่าง ๆ สำหรับงานศึกษาวิจัยนวัตกรรม การจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาป่าเชิงนิเวศเป็นแผนงานระยะยาวที่จะติดตามต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568
ชั้นบนสุดของหอดูนกในสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ สามารถมองเห็นธรรมชาติอันร่มรื่นช่วยสร้างความตระหนักในคุณค่าของสถานที่แห่งนี้
นิเวศป่าสามแบบเพื่อการเรียนรู้
บริเวณปากคลองที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำกร่อยช่วงน้ำทะเลหนุนสูงและอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลงเป็นถิ่นกระจายของป่าชายเลน หนึ่งในระบบนิเวศสามอย่างที่เคยดำรงอยู่ในพื้นที่กระเพาะหมูสีเขียวแห่งนี้ ส่วนที่ราบต่ำริมน้ำหรือพื้นที่ตอนในซึ่งมีน้ำแช่ขังในช่วงฤดูฝนและแห้งในช่วงฤดูแล้ง เคยเป็นป่าบึงน้ำจืดก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้ที่ขุดร่องไว้ช่วยระบายน้ำ และตามที่ดอนสูงกลางคุ้งเคยถูกปกคลุมด้วยป่าดิบลุ่มต่ำซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพื้นที่สวนและที่อยู่อาศัย
จากการศึกษาสภาพพื้นที่ การระบายน้ำ และพรรณไม้ ทำให้แบ่งเขตในพื้นที่ 40 ไร่อย่างเหมาะสม เป็นการฟื้นฟูที่ต้องปลูกเสริมพันธุ์ไม้เข้าไปในพื้นที่เดิม ติดตามดูแลให้เจริญเติบโตขึ้นตามธรรมชาติ จนกระทั่งมีโครงสร้างของสังคมพืชและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล สอดคล้องกับป่าแต่ละประเภท
นอกจากการเก็บข้อมูลด้านการเติบโตของต้นไม้แล้วยังเก็บข้อมูลการกักเก็บคาร์บอน และการย่อยสลายของใบไม้ว่าเกิดขึ้นเร็วช้าอย่างไร เพราะเมื่อใบไม้ย่อยสลายจะเป็นต้นทางของวงจรธาตุอาหาร เกิดการพัฒนาคุณภาพของดิน มีสัตว์เล็ก ๆ จำพวกไส้เดือนเข้ามาใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ และการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยามาอย่างต่อเนื่องโดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ในพื้นที่ป่าทั้ง 3 ประเภท กล่าวคือพื้นที่ป่าชายเลนมีปริมาณมวลชีวภาพเฉลี่ย 16.14 ตันต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 57.2% ป่าบึงชุมน้ำมีปริมาณมวลชีวภาพเฉลี่ย 11.83 ตันต่อไร่หรือเพิ่มขึ้น 21.7% และป่าดิบลุ่มต่ำมีปริมาณมวลชีวภาพเฉลี่ย 11.53 ตันต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 20.6% นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลพบว่ามีชนิดพรรณไม้เพิ่มขึ้นจาก 90 ชนิดในปี 2557 เป็น 118 ชนิดในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 31.1% และพบพันธ์สัตว์ป่าอย่างน้อย 101 ชนิด โดยทั้งหมดจะเป็นสัตว์ประจำถิ่น ส่วนนกที่พบจะประกอบด้วยนกประจำถิ่น และนกอพยพตามฤดูกาล ทำให้สวนศรีนครเขื่อนขันธ์เป็นแหล่งดูนกที่สำคัญ
ป่าบึงชุ่มน้ำ หนึ่งในระบบนิเวศสามอย่างที่เคยดำรงอยู่ในคุ้มบางกะเจ้า ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในสวนศรีนครเขื่อนขันธ์
เส้นทางศึกษาธรรมชาติสำหรับทุกคน
เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ขี่จักรยานออกกำลังง่าย ๆ รอบสวนศรีนครเขื่อนขันธ์แห่งนี้ ทั้งได้สุขภาพดี เพลิดเพลิน และความรู้
ไม่เพียงแค่ทางสำหรับคนมีแรงขาปั่น ผู้พิการ หรือผู้สูงวัยที่ต้องนั่งรถเข็นก็มีโอกาสใช้เส้นทางตัดใหม่ระยะทาง 500 เมตรเพื่อเที่ยวชมศึกษาธรรมชาติได้เช่นกัน ด้วยระยะทางสั้น ๆ ใกล้ชิดบึงน้ำ บริเวณนี้จึงได้รับความนิยมทั้งจากผู้ใช้รถเข็นและครอบครัวที่พาเด็ก ๆ มาวิ่งเล่น หรือให้อาหารปลากัน
เส้นทางนี้ได้รับการปรับปรุงภายใต้โครงการฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ โดย ปตท.สผ. ซึ่งครอบคลุมการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะกึ่งสวนพฤกษชาติกว่า 100 ไร่บริเวณด้านหน้า และอีกกว่า 40 ไร่ที่เป็นแปลงฟื้นฟูป่า
เส้นทางจักรยานและเส้นทางศึกษาธรรมชาติสำหรับผู้พิการที่ได้รับการปรับปรุงให้มีสภาพดี มีบรรยากาศสงบร่มเย็น เหมาะสมแก่การมาพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย
ความหวัง อยู่ที่ก้าวต่อไป
แค่เพียงข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากกรุงเทพฯ มาสู่คุ้งบางกะเจ้า ไม่ว่าใครก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ต่างไปในปอด
แต่จะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน
อย่างน้อยในพื้นที่สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ซึ่งได้ฟื้นฟูป่าดั้งเดิมสามประเภทของคุ้งบางกะเจ้าไว้ จะทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ให้คงอยู่ต่อไป
เป็นดั่ง “ความหวัง” ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รายล้อม “นครเขื่อนขันธ์” เข้ามาทุกขณะ
สวนศรีนครเขื่อนขันธ์
ต.บางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 10130โทร. 0-2461-0972
เว็บไซต์: www.suansri-bangkachao.com
โครงการฟื้นฟูป่าเพื่อการเรียนรู้เชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์
โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในปี 2556 เพื่อฟื้นฟูป่าในสวนพฤกษชาติจำนวน 40 ไร่ และปรับปรุงสวนสาธารณะ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศในรูปแบบ "ห้องเรียนธรรมชาติ" อย่างยั่งยืนที่สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ (บางกะเจ้า) ปัจจุบันโครงการนี้ได้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจยอดนิยม จนได้รับสมญาว่า "ปอดแห่งมหานคร"
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้จัดกิจกรรมอบรมเครือข่าย "ยุวอาสาพาเที่ยวสวนศรีนครเขื่อนขันธ์" อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเครือข่ายและสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนให้ตระหนักถึงคุณค่าของการมีป่าในเมือง จนถึงปัจจุบัน ได้มีการอบรมนักเรียนไปแล้ว จำนวน 422 คน โดยในแต่ละปีจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมสวนศรีฯ เป็นจำนวนกว่า 300,000 คน
ปตท.สผ. ได้ทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้ โดยนำผลลัพธ์ทางสังคมมาคำนวณมูลค่าเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้เท่ากับ 1 : 1