โครงการจัดทำแนวเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลและบ้านปลา

โครงการจัดทำแนวเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลและบ้านปลา มุ่งส่งเสริม อนุรักษ์ และเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ใน 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่งคงทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการเริ่มจัดทำแนวเขตอนุรักษ์และสนับสนุนการจัดทำบ้านปลาในโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูที่เริ่มขึ้นในปี 2556 โดยในปี 2566 ปตท.สผ. สนับสนุนเครือข่ายชุมชนชาวประมงในพื้นที่ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ จัดทำบ้านปลาจากวัสดุจากธรรมชาติด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหลบภัยของสัตว์น้ำชายฝั่งจำนวน 29 แห่ง สร้างแนวเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลพื้นที่รวม 14.8 ตารางกิโลเมตร จนถึงปัจจุบันนี้ ปตท.สผ. ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯ แล้วเสร็จรวมจำนวน 12 แห่ง ใน 11 จังหวัดรอบอ่าวไทย โดยมีสมาชิกเครือข่ายการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ก่อตั้งศูนย์ฯ จำนวน 4,621 คน

โดยจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาพบว่า ชุมชนมีแนวเขตอนุรักษ์เพิ่มขึ้น ทำให้ชายฝั่งทะเลหน้าหมู่บ้านมีสัตว์น้ำมาอาศัยอยู่มากขึ้น ทรัพยากรชายฝั่งมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น มีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ชาวประมงสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น ส่งผลให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญในการทำประมงอย่างยั่งยืน และเล็งเห็นความสำคัญขอการจัดทำบ้านปลาและการจัดทำแนวเขตอนุรักษ์

รวมถึงการเพาะฟักลูกปูเพื่อเพิ่มปริมาณปู จึงมีการกำหนดกติกาในการทำประมงเชิงอนุรักษ์ ร่วมกัน และมีความร่วมมือร่วมใจในการจัดทำแนวเขตอนุรักษ์และจัดทำบ้านปลา เพราะเล็งเห็นประโยชน์ที่ชุมชนได้รับอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้โครงการยังได้รับความสนใจจากผู้ที่สนใจมาศึกษาดูงานในชุมชนอย่างสม่ำเสมอปีละกว่า 7,000 คน ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง

ปตท.สผ. ได้ทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้ โดยนำผลลัพธ์ทางสังคมมาคำนวณมูลค่าเป็นตัวเงิน แล้วเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการ เพื่อพิจารณาว่าโครงการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ต่อเงินทุก 1 บาทที่ลงทุนไป ทั้งนี้ ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้ เท่ากับ 4.31 : 1