โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เป็นโครงการที่ขยายผลมาจากศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูในจังหวัดสงขลา โดยการร่วมมือกับภาครัฐ ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงหน่วยงานปกครองท้องถิ่น และชุมชน ขยายศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจเพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายพันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งส่งเสริมการทำประมงเชิงอนุรักษ์ สร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนในพื้นที่ 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย และสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และวิถีประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยได้นำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมกับการพัฒนาองค์ความรู้ของกลุ่มประมงพื้นบ้านอย่างเป็นรูปธรรม


ปตท.สผ. มีแผนขยายผลโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ จำนวน 19 แห่ง ครอบคลุม 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย โดยปัจจุบันได้ก่อตั้งศูนย์ฯ รวมจำนวน 14 แห่ง ใน 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม ชุมพร ระยอง จันทบุรี ชลบุรี และสมุทรปราการ

นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ก่อตั้งศูนย์ฯ มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 7,891 คน พร้อมทั้งสร้างแนวเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลและบ้านปลา จำนวน 29 แห่ง เกิดแนวเขตอนุรักษ์พื้นที่ 15.3 ตารางกิโลเมตร และยังเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจให้แก่ผู้สนใจ โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ จำนวนกว่า 90,000 คน รายได้เฉลี่ยของชุมชนชาวประมงเพิ่มเป็น 33,990 บาท (971 ดอลลาร์ สรอ.) ต่อครัวเรือนต่อเดือน และโครงการยังได้มีการปล่อยลูกปูและลูกพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจกลับสู่ธรรมชาติกว่า 37,000 ล้านตัว

ปตท.สผ. ได้ทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการ โดยนำผลลัพธ์ทางสังคมมาคำนวณเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการ โดยผลตอบแทนทางสังคมของโครงการ (SROI) มีค่าเท่ากับ 4.13:1

เกี่ยวกับศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู

แผ่นพับประมงยั่งยืน คืนสมดุลสู่ท้องทะเล
แผ่นพับเพาะฟักลูกปู บ้านหัวเขา